General

ข่าวดีต่างชาติ!! ครม.ไฟเขียวลดค่าธรรมเนียม ‘วีซ่า’ เพื่อการรักษาพยาบาลเหลือ 5,000 บาท อ่านเงื่อนไขที่นี่

ครม. มีมติเห็นชอบค่าธรรมเนียมวีซ่า เพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี ครั้งละไม่เกิน 90 วัน รายละ 5,000 บาท อ่านรายละเอียด-เงื่อนไขที่นี่

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 พ.ย. 2565) มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการกำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT

วีซ่า เพื่อการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ ได้ปรับให้ใช้อัตราใหม่คือรายละ 5,000 บาท ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข เสนอ โดยปรับค่าธรรมเนียมจากเดิมรายละ 6,000 บาท สำหรับประเภท VISA เพื่อการรักษาพยาบาลได้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน

ขณะที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกในไทยได้หลายครั้ง (Multiple Entry) ครั้งละไม่เกิน 90 วันในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบวีซาประเภทนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2566

สำหรับการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (ปี2560 – 2569)

นอกจากนี้ ยังเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

ทิพานัน
ทิพานัน ศิริชนะ

เปิดเงื่อนไขการขอวีซ่า เพื่อการรักษาพยาบาล

  • การรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้
  • ต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน
  • ผู้ขอจะต้องมีการยื่นเอกสารการนัดหมายกับสถานพยาบาล (Confirmation Letter)
  • หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 8 แสนบาท
  • หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
  • เอกสารแสดงประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองการรักษาโควิด-19 ในประเทศไทย
  • กรณีขออยู่ต่อ จะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ารับการขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล เฉพาะผู้ที่มารับบริการในกลุ่มโรคหรือหัตถการที่มีระยะเวลารักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน โดยสถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ การแพทย์ทางเลือก โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทันตกรรม เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ โรคมะเร็ง ศัลยกรรมเสริมความงาม จักษุ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยรับรองเป็นรายกรณี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo