General

เย็นนี้อย่าลืมส่อง ‘จันทรุปราคาเต็มดวง’ แจก 4 พิกัด ชมฟรี!!

เย็นนี้ “วันลอยกระทง” อย่าลืมส่อง “จันทรุปราคาเต็มดวง” แจก 4 พิกัด ชมฟรี พลาดวันนี้ ต้องรออีก 3 ปี!!

วันนี้ (8 พ.ย.65) ซึ่งตรงกับคืนเดือนเพ็ญ และเป็นวันลอยกระทงของปีนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ประเทศไทยจะเริ่มสังเกตการณ์ได้เมื่อดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 17:44 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ซึ่งเป็นช่วงคราสเต็มดวงพอดี จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก และสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วนในเวลา 19.49 น. จากนั้นเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

จันทรุปราคาเต็มดวง

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์”
เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “เงามัว (Penumbra Shadow)” เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ “เงามืด (Umbra Shadow)” เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ดังนี้
จันทรุปราคาเต็มดวง
  1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
  2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง
  3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด เรายังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก

3 เหตุผลที่ต้องชม “จันทรุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย”

1.ตรงกับวันลอยกระทง

นานทีมีหนที่ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองพอดี หมายความว่า คนไทยทั้งประเทศจะได้ฉลองวันลอยกระทงไปพร้อมกับดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ นับเป็นโอกาสที่พิเศษมากเลยทีเดียว และพิเศษสุดกับพวกเราชาว NARIT ที่จัดกิจกรรมลอยกระทงชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเฉพาะกิจ แต่งชุดไทยเก๋ ๆ มาชมจันทรุปราคาด้วยกันที่หอดูดาว พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา
จันทรุปราคาเต็มดวง

2.เห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐตั้งแต่โผล่พ้นจากขอบฟ้า

จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าขณะอยู่ในช่วงคราสเต็มดวงพอดี หรือก็คือดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ทำให้เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ (ช่วงเวลาเกิดคราสเต็มดวงที่สังเกตได้ในไทย ประมาณ 17:44 – 18:41 น. รวมระยะเวลา 57 นาที) จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงามืดเข้าสู่เงามัวของโลก เกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งบางส่วน และเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกทั้งดวง จะเกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างลดลงเล็กน้อย ก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 20:56 น. เมื่อดวงจันทร์โคจรออกจากเงาของโลกหมดทั้งดวง
จันทรุปราคาเต็มดวง
3.ชมได้อีกที3ปีข้างหน้า
หลังจากนี้จะไม่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในประเทศไทยไปอีก 3 ปี จะได้ชมดวงจันทร์สีแดงอิฐทั้งดวงแบบนี้อีกทีคือวันที่ 8 กันยายน 2568
จันทรุปราคาเต็มดวง

4 พิกัด ชมจันทรุปราคาเต็มดวง ฟรี!

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) จัดกิจกรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง แจก 4 พิกัด ชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

เวลา 18:00 – 22:00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 081-8854353

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo