General

ปรากฏการณ์ ‘จันทรุปราคา’ เกิดขึ้นจากอะไร ก่อนชม จันทรุปราคาเต็มดวง คืนลอยกระทง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ เผยที่มา ปรากฏการณ์ จันทรุปราคา เตรียมแหงนมองฟ้า รอชมจันทรุปราคาเต็มดวง คืนลอยกระทง 8 พฤศจิกายนนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ถึงการเกิดจันทรุปราคา มีแบบไหนบ้าง พร้อมชวนชม จันทรุปราคาเต็มดวง คืนวันลอยกระทง พรุ่งนี้ โดยระบุว่า

ปรากฏการณ์ จันทรุปราคา

จันทรุปราคา (Lunar Eclipses)

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ

ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ราหูอมจันทร์ 

ประเภท

เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ เงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ดังนี้

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse)

เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์ จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

จันทร์

2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse)

เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse)

เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด เรายังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 คืนวันลอยกระทง เป็นปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15:02-20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

shutterstock 1138976831

ทั้งนี้ สังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้

ประเทศไทย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี

มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที

จันทรุปราคา1

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง ชวนแต่งชุดไทย/ พื้นเมือง ร่วมลอยกระทงใต้แสงจันทร์ พร้อมชมจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ และดูดาวเคล้าเสียงเพลง ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เวลา 18:00-22:00 น. ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เวลา 18:00 – 22:00 น.

นอกจากนี้ ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo