General

‘อาจารย์เจษฎ์’ เตือนปา EM ball ตอนน้ำท่วม ไม่ได้ช่วยอะไร!!

“อาจารย์เจษฎ์” เผยใช้ EM ball ลงพื้นที่น้ำท่วม ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ เหตุน้ำท่วมขังมีปริมาณออกซิเจนในน้ำน้อยอยู่แล้ส แถม EM ball ยังแย่งออกซิเจนมาใช้

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เรื่อง ปา EM ball ตอนน้ำท่วมกันอีกแล้ว มันไม่ได้ช่วยอะไรนะครับ ! โดยระบุว่า

EM ball

(คำเตือน: อันนี้ไม่ได้บ่นเพราะเป็นนายกฯ ปัจจุบันที่เป็นคนปานะ แต่บ่นมาตั้งแต่สมัยคุณยิ่งลักษณ์แล้ว ซึ่งก็เดาได้ว่าเป็นข้าราชการในสังกัดนั่นแหละที่จัดเตรียมมาให้ปากัน โดยไม่เข้าใจในหลักวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง)

รอบนี้มาจากข่าวเมื่อวาน (24 ตุลาคม 2565) ที่นายกฯ ประยุทธ์ และคณะ ลงเรือท้องแบน ไปให้กำลังใจประชาชน เยี่ยมบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย ณ หมู่ที่ 3 ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

โดยระหว่างนั่งเรือ มีการโยน อีเอ็ม บอล ซึ่งอ้างว่า เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ช่วยย่อยตะกอนให้กลายเป็นอาหารของสัตว์เล็กๆ เพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีในน้ำทำให้เกิดการย่อยสลายที่มากขึ้น และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำทำให้สภาพของน้ำสมดุล

แต่จริง ๆ แล้ว การใช้งานก้อนจุลินทรีย์ EM (Effective Microorganisms) ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่น้อยนั้น นอกจาก EM มันจะไม่ได้สร้างออกซิเจนให้กับน้ำอย่างที่อ้างแล้ว ! มันกลับไปเอาออกซิเจนมาใช้ (ตามธรรมชาติของจุลินทรีย์ในนั้น ซึ่งประกอบไปด้วย แบคทีเรียกลุ่มที่สร้างกรดแลกติก / ยีสต์ / และแบคทีเรียกลุ่มสีม่วง ที่ใช้แสงอาทิตย์ในการสร้างพลังงาน (ไม่ใช่สร้างออกซิเจน)

อีเอ็ม

พูดง่าย ๆ คือ ถ้ายิ่งใส่ อีเอ็ม ลงไป ก็ยิ่งจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง !

แถมปัญหาของน้ำท่วมขังเน่าเสีย ก็คือการที่น้ำในบริเวณดังกล่าว มีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก ดังนั้น การการใส่ อีเอ็ม ลงไปในรูปของก้อนบอลจุลินทรีย์ ก็ยิ่งไปเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำ ในบริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง ใส่ไปเยอะๆ แทนที่จะทำให้น้ำดีขึ้นกลับ กลับส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ (จากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์)

จุลินทรีย์ในพวกอีเอ็ม จะเป็นกลุ่มที่นอกจากจะทำงานโดยใช้ออกซิเจนแบบสิ่งมีชีวิตทั่วไป มันยังสามารถทำงานได้เมื่อไม่มีออกซิเจนได้ด้วยครับ ซึ่งก็คือเมื่อใส่ลงไปในบ่อน้ำเน่าที่มีออกซิเจนต่ำมาก มันจะลงไปย่อยสารอินทรีย์ที่ก้นบ่อได้ ทำให้เกิดพวกก๊าซไข่เน่าขึ้น เลียนแบบกลไกในการย่อยสลายตามธรรมชาติให้เร็วขึ้น จึงมีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา (โถส้วม) ตามที่ในบทความเขียนครับ

ซึ่งต่างจากพื้นที่น้ำท่วมขังตามข่าว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบเปิด และมีออกซิเจน ซึ่งจุลินทรีย์ก็จะไปใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิตตามปรกติของมันแทน จึงไม่สามารถเอามาอ้างว่าไปเพิ่มออกซิเจนได้ ซ้ำจะเป็นเพิ่มปริมาณของสารอินทรีย์ลงสู่น้ำด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo