General

แนวโน้มป่วย ‘ไข้เลือดออก’ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แพทย์เตือนกลุ่มมีโรคประจำตัว ต้องระวัง

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วยโรคไข้เลือดออกในช่วงฝนตกน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เผยขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคประจำตัว 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ ซึ่งน้ำที่ท่วมไหลผ่านอาจไม่ใช่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แต่เป็นน้ำที่ท่วมขังตามภาชนะต่างๆ หรือตกค้างอยู่ตามเศษขยะ กาบใบไม้ขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้ ขณะนี้เริ่มมีพื้นที่บางแห่งที่บ้านถูกน้ำท่วมไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องไปอาศัยอยู่ในที่ที่มีการจัดหาให้ซึ่งอยู่สูงกว่า และมักจะอยู่อาศัยรวมกันหลายๆ ครอบครัว หรือบางครอบครัวอาจต้องไปอาศัยตามถนนเส้นหลักที่น้ำยังท่วมไม่ถึงเพื่อให้อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ซึ่งเหตุเหล่านี้ประชาชนอาจเสี่ยงต่อการถูกยุงลายกัด จึงขอแนะนำให้ใช้ยาทากันยุงทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะยุงลายชอบกัดเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน รวมทั้งเน้นย้ำว่าต้องปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ป้องกันวงจรการเกิดเป็นยุงตัวเต็มวัยมากัดรบกวน ซึ่งอาจมีทั้งเชื้อโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ไข้เลือดออก

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มรกราคม – 28 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 26,286 ราย เสียชีวิต 19 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา อายุ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด – 4 ปี จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน ชลบุรี เชียงใหม่ และตาก โรคไข้เลือดออกพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตนั้น ส่วนมากพบในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต ภาวะติดสุราเรื้อรัง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายกันในผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่คือ เดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลช้า หรือผู้ป่วยบางรายปฏิเสธการรักษาตัวในโรงพยาบาล คิดว่าโรคไข้เลือดออกมีอาการไม่รุนแรง จึงทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้า ส่งผลให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคไข้เลือดออก จะมีไข้สูงเฉียบพลัน และไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ในรายที่รุนแรง อาจมีการอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด มักเป็นสีดำ ต่อมาไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ เนื่องจากปัจจุบันไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา จึงขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองหรือคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ไอบูโพรเฟน ยาชุด ไดโครฟีแนก แอสไพริน ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้  และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว

สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดจำนวนยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ“3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด จัดการภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง มีมุ้งลวด ใช้ยาจุดกันยุง และใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo