General

ทำความรู้จัก ‘เรดาร์ตรวจอากาศ’ วิธีการอ่าน สีไหนหมายถึงอะไร เช็คเลย

พายุโนรูเข้าไทย แนะวิธีอ่าน เรดาร์ตรวจอากาศ เฉดสี เหลือง ส้ม แดง ชมพู เขียว แทนค่าความแรงฝน สีไหนหมายถึงอะไร เช็ครายละเอียดที่นี่

เพจเฟซบุ๊ก ฝ่าฝุ่น โพสต์เรื่องราวน่าสนใจถึงการอ่านเรดาร์ตรวจอากาศให้เป็น เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพายุโนรู เข้าประเทศไทย และส่งผลกระทบแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยระบุว่า

เรดาร์ตรวจอากาศ

ชวนใช้ประโยชน์จากเรดาร์ตรวจอากาศ

เรดาร์ตรวจอากาศ มีการติดตั้งไว้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมถึง กทม.จะเป็นประโยชน์มากในช่วงที่มีฝนตก

หลักการทำงานอย่างง่าย คือ เมื่อส่งคลื่นที่ความถี่หนึ่งออกไปจากเครื่องส่ง เมื่อคลื่นเดินทางไปกระทบกับหยดน้ำหรือฝน จะสะท้อนกลับมาที่เครื่องรับสัญญาณ โดยหลักของ doppler อนุภาคยิ่งมาก ขนาดใหญ่ หรือกลุ่มฝนเคลื่อนที่เข้าหาเรดาร์ สัญญาณที่สะท้อนกลับก็จะมีความแรงมากขึ้น

การแสดงผลในภาพเรดาร์จะใช้เฉดสีต่าง ๆ แทนความแรงของฝน ในหน่วย dBz เช่น สีเหลือง ส้ม แดง ไปจนถึงสีชมพู แทนฝนจะตกหนักถึงหนักมาก ส่วนสีเขียว จะเป็นฝนอ่อนหรือตกปรอย ๆ หรืออาจแทนค่าประมาณฝนจากเรดาร์ (Z-R) หน่วยมิลลิเมตรต่อชั่วโมง

เรดาร์1

การใช้งานอย่างง่าย เมื่อเห็นกลุ่มฝนให้สังเกตก่อนว่า สีที่ปรากฏแทนฝนตกแรงแค่ไหน เพื่อให้ใช้งานได้ดีขึ้นอาจต้องใช้การสังเกตและเปรียบเทียบกับฝนที่ตกในพื้นที่จริง จากนั้นสังเกตทิศทาง และความเร็วในการเคลื่อนที่ของกลุ่ม เพื่อประเมินว่าฝนกลุ่มนั้น จะมาถึงในพื้นที่เป้าหมายเมื่อไร หรืออาจสลายไปก่อน

การใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น คนที่ชอบเดินออกกำลังตอนเย็น ๆ ในวันที่ท้องฟ้าครึ้มฟ้าครึ้มฝน ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะออกไปเดินออกกำลังดีหรือไม่ เพราะอาจกังวลว่าระหว่างทางฝนอาจจะตกเสียก่อน ก็สามารถใช้เรดาร์ช่วยตัดสินใจได้ว่าฝนจะตกในบริเวณที่จะออกไปเดินหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องอาศัยการดูเรดาร์บ่อยครั้ง จนสามารถแปลผลได้ด้วยตัวเอง ก็จะเป็นประโยชน์กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

ตัวอย่างด้านล่างเป็นภาพเรดาร์ตรวจอากาศ ที่สถานีอุบลราชธานี วันนี้เมื่อเวลา 15.45น. มีฝนตกที่บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ยโสธร และเริ่มมีฝนหนักโดยสังเกตจากสีเหลือง-ส้มที่ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ขณะที่พายุโนรู กำลังเคลื่อนที่เข้ามายังไทย

เรดาร์

หากต้องการดูข้อมูลจากสถานีอื่น ๆ เพิ่มเติมสามารถเข้าไปดู ภาพเรดาร์จากกรมอุตุนิยมวิทยา (https://weather.tmd.go.th/ ) ทั้งแบบภาพนิ่ง ภาพต่อเนื่อง หรือภาพรวมทั้งประเทศ (radar composite) จาก (https://weather.tmd.go.th/composite/index_composite.html ) ก็จะติดตามกลุ่มฝนบริเวณต่าง ๆ จากพายุลูกนี้ได้

มีข้อสังเกตเวลาที่แสดงไว้ในการตรวจฝนด้วยเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมฝนหลวง และการบินเกษตร จะแสดงเป็นเวลาสากล (UTC) ถ้าต้องการเปลี่ยนเป็นเวลาท้องถิ่นของไทย เช่น 08.45 เวลาท้องถิ่นของไทยก็จะเป็น 15.45น. หรือบวกไปอีก 7 ชั่วโมง

ขอบคุณข้อมูล: เพจฝ่าฝุ่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo