Politics

เช็กที่นี่ 43 จังหวัด เฝ้าระวัง ‘ดินถล่ม’ กรมทรัพยากรธรณี ตั้งวอร์รูม รับมือ ‘โนรู’

กรมทรัพยากรธรณี ตั้งวอร์รูม รับมือ ‘โนรู’ ประกาศ 43 จังหวัด ระวัง ‘ดินถล่ม’ พร้อมแนะข้อปฏิบัติ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ รองโฆษกกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่ม จากการคาดการณ์อิทธิพลพายุโซนร้อน “โนรู” ที่จะเข้าสู่ประเทศไทยคืนนี้

ขณะนี้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “โนรู” ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

โนรู
ภาพใช้เพื่อประกอบข่าวเท่านั้น

43 จังหวัด ระวังดินถล่ม

ทั้งนี้ พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่ม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทางน้ำ ตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่านใน 43 จังหวัด ดังนี้

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองคาย อุดรธานีหนองบัวลำภู ขอนแก่น
  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครนายก ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด
  • ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา

ทั้งนี้ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยทั้ง 43 จังหวัดเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากโดยวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวัง

โนรู

ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน

ส่วนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมีข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินถล่ม หลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่บริเวณที่สูงชัน และที่ลาดเชิงเขาที่มีผลทำให้เสถียรภาพของลาดดินลดลง อาจส่งทำให้เกิดการเลื่อนไถลของชั้นดินและหินได้
  • ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัย และลักษณะบ้านเรือนที่เสี่ยงภัยในชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยในชุมชน รวมถึงแผนอพยพหนีภัย ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ควรสังเกตสิ่งบอกเหตุการณ์เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เช่น มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ระดับน้ำในทางน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำในทางน้ำเปลี่ยนเป็นสีดิน มีเสียงดังมาจากภูเขาเนื่องจากเกิดการถล่มบนภูเขา เป็นต้นพร้อมทั้งการติดตามข่าวสารสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยดินถล่ม และข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โนรู

  • ควรอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยตามเส้นทางอพยพที่กำหนดไว้ โดยการอพยพควรกระทำอย่างรวดเร็วและไม่ควรกังวลในการเก็บทรัพย์สิน ทั้งนี้ ข้อพึงระวังในช่วงการอพยพคือ ไม่ควรอพยพข้ามลำน้ำ เพราะอาจจะเกิดการชำรุดหรือพังลงมาของสะพานข้ามลำน้ำ ทำให้ถูกน้ำพัดพาไปได้ และระหว่างที่อพยพอย่าเข้าใกล้บริเวณดินถล่มและเส้นทางของดินถล่มโดยเด็ดขาด
  • หากพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พื้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีเพราะอาจกระแทกกับเศษหิน ดิน ซากต้นไม้ ที่ลอยมากับน้ำได้
  • ไม่ควรเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo