General

เตรียมส่องท้องฟ้า ‘ซูเปอร์ฟูลมูน’ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนอาสาฬหบูชา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนเงยหน้ามองพระจันทร์ คืนอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคมนี้ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์เต็มดวงขนาดใหญ่ เนื่องจากอยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ โดยระบุว่า

อาสาฬหบูชา

13 กรกฎาคมนี้ ชวนจับตา ซูเปอร์ฟูลมูน หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืนอาสาฬหบูชา

ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าวในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ จะเกิดเป็นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%

ในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงเป็นอย่างยิ่ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่ และสว่างกว่าปกติเล็กน้อย

ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพ

ฟลูมูน

คืนดังกล่าวยังเหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพด้วยเทคนิค Moon illusion ด้วยเลนส์เทเลโฟโต เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า ทำให้เกิดภาพลวงตาเสมือนว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้โลกมาก ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร

การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ฟลูมูน1

NARIT จัดสังเกตการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชวนดูดาวชมจันทร์ในคืนวันอาสาฬหบูชา 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย

ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022

นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมพิเศษ ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ ชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีเคล้าเสียงดนตรีในสวน ฟัง Special Talk เรื่อง มหัศจรรย์ดวงจันทร์ของโลก และชวนแต่งกายธีมญี่ปุ่นถ่ายภาพคู่กับซูเปอร์ฟูลมูน ผู้สนใจร่วมงานลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/NARIT-SuperFullMoon2022

ขอบคุณข้อมูล/ภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo