General

‘โรคฝีดาษลิง’ ระยะฟักตัว แพร่เชื้อ หมดฤทธิ์ ใช้เวลากี่วัน เช็คอาการที่นี่!!

แพทย์รพ.พระรามเก้า เผยโรคฝีดาษลิง โรคจากลิงสู่มนุษย์ ที่ต้องระวัง เช็คอาการ ระยะฟักตัว หมดระยะแพร่เชื้อ ที่นี่

พญ.รับพร ทักษิณวราจาร ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยถึงโรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร ว่า เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

โรคฝีดาษลิง

สำหรับผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับ ตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และ ต่อมน้ำเหลืองโต โรคนี้ถูกพบครั้งแรกในลิง จึงตั้งชื่อว่า ฝีดาษลิง

ฝีดาษลิงไม่เคยพบในประเทศไทย อย่างไรก็ดีผู้ที่กลับจากอัฟริกา หรือ สัมผัสกับสัตว์ป่าต่างถิ่น หากมีอาการดังกล่าว ก็ควรปรึกษาแพทย์

ฝีดาษลิง ถูกค้นพบครั้งแรกในโลก ในปี 2501 จากลิงที่ป่วย อย่างไรก็ดี พบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรกในปี 2513 ที่ประเทศคองโก

ฝีดาษลิง นั้นเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่พบในอัฟริกากลางและตะวันตก นอกจากลิงแล้ว สัตว์อื่นก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ เช่นกัน เช่น กระรอก หนู ลิง ตัวแพรี่ เป็นต้น

ปัจจุบันมีรายงานการเกิดเชื้อไวรัส ฝีดาษลิง 2 สายพันธิ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัฟริกากลาง และสายพันธุ์ อัฟริกาตะวันตก ซึ่งสายพันธุ์อัฟริกากลางเป็นสายพันธุ์ที่มีการรายงานติดต่อจากคนสู่คน

ผู้ที่รายงานว่ามีความเสี่ยงว่าติดเชื้อ คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าในอัฟริกากลางหรือตะวันตก หรือมี การล่าสัตว์เพื่อทำอาหาร หรือ ส่งออกเป็นสัตว์เลี้ยง

shutterstock 1648060924

นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบการติดเชื้อจากคนสู่คน จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ผิวหนัง หรือ ละอองฝอยจากการหายใจ อย่างไรก็ดีการติดเชื้อแบบแพร่กระจายเป็นวงกว้างจากคนสู่คนยังเกิดขึ้นน้อย

โรคฝีดาษลิง ระยะฟักตัว แพร่เชื้อ อาการ

หลังการได้รับเชื้อ ไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง และใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงแสดงอาการ โดยอาการจะเริ่มจากการมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต 1-2 วัน จึงมีผื่น

ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีไข้ โดยผื่นจะเริ่มจากมีแผลในปาก จากนั้นจะเริ่มมีผื่น ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร

ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากผื่นนูนแดง เป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี โดยผื่นจะเปลี่ยนรูปแบบพร้อม ๆ กัน ทั่วทั้งตัว

หลังตุ่มหนองแตกจนแห้งดี ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น

ปัจจุบัน ไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ 1-10% ซึ่งจัดว่าต่ำกว่าโรคไข้ทรพิษมาก

อย่างไรก็ดี ฝีดาษลิง สามารถป้องกันได้โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่ห้องแยก สวมหน้ากากอนามัย และใส่เสื้อคลุมปกปิดผื่นทั้งหมด จนผื่นหายดีและตกสะเก็ด

shutterstock 2158210865 1

สำหรับเคสที่มีอาการหนัก มีการให้วัคซีนฝีดาษหรือวัคซีนโรคฝีดาษลิง รวมถึง cidofovir

สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดโรค และฉีดวัคซีนภายใน 14 วัน เพื่อลดความรุนแรงของโรค

ปัจจุบัน มีการผลิตวัคซีน เฉพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง ชื่อว่า วัคซีน Ankara ซึ่งพบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้วัคซีนโรคไข้ทรพิษ

ในประเทศไทย ไม่เคยมีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงมาก่อน อย่างไรก็ดี ในการระบาดครั้งนี้ พบผู้ป่วยฝีดาษลิงระบาดจากคนไปยังคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ

ล่าสุดพบผู้ป่วยฝีดาษลิง 120 รายใน 11 ประเทศ แต่ยังอยู่ในยุโรปและอเมริกา มีระบาดเป็นคลัสเตอร์ และระบาดในกลุ่มชายรักชาย แต่ยังไม่ทราบความสัมพันธ์แน่ชัด

ปัจจุบัน เราค้นพบโรคหลายโรค ที่เริ่มจากการระบาดจากสัตว์สู่คน ตามด้วยการระบาดในคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่กินอาหารป่า ค้าขายสัตว์ป่า

ดังนั้นกิจกรรมดังกล่าวจึงควรถูกจัดการทางกฏหมายอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายระบบนิเวศแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo