General

‘หมอธีระวัฒน์’ บอกเหตุผล 8 ข้อ ไม่ควรตระหนก ‘ฝีดาษลิง’ ป้องกันแบบโควิดเอาอยู่

หมอธีระวัฒน์ สรุป 8 เรื่อง ที่ไม่ควรวิตกกับ ฝีดาษลิงจนตื่นตระหนก แนะป้องกันตัวเองเหมือนโควิด ช่วยได้

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha รวบเหตุผล 8 ข้อที่ไม่ควรตระหนกกับโรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร โดยระบุว่า

ฝีดาษลิง

monkey pox (ฝีดาษวานร) ควรจะไม่เป็นที่น่าตระหนกมาก

1. ไวรัสจะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว ได้แก่ ไข้ปวดหัว ปวดเมื่อย มีต่อมน้ำเหลืองโต และที่สำคัญก็คือ มีผื่นที่ปรากฏเห็นได้ชัด ที่หน้าที่แขนและที่มือหลังจากเริ่มอาการป่วยไม่นาน

2. ความสามารถในการติดจากคนสู่คน ต่ำกว่า small pox ต้นตระกูลมากมาย

3. ความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตแม้ว่า โดยทั่วไปจะถือว่าน้อยกว่า 10% แต่แท้จริงแล้วต่ำมากประมาณ 1% หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย

4. ไวรัสตัวนี้เป็น DNA ดังนั้นความสามารถที่จะมีการแปรผันรหัสพันธุกรรม เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่แบบโควิดนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย

5. การติดเชื้ออยู่ที่การสัมผัสใกล้ชิด ฝอยละออง จากการไอ จาม น้ำลาย จากคนติดเชื้อ ที่มีอาการแล้ว

IMG 0465 1
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

กรณีที่ติดจากสัตว์ จะเป็นจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือ กับสัมผัสเนื้อ หรือสิ่งคัดหลั่งเลือด เวลาที่ทำอาหาร เช่นในแอฟริกา

อย่ากลัวสัตว์มาก เพราะในกรณีนี้ในประเทศต่าง ๆ คนติดก่อนและปล่อยไปให้สัตว์ (ในการเกิดโรคเป็นกระจุก หลาย 10 ปีที่ผ่านมาในแอฟริกา เป็นจากสัตว์มาคน และคนสู่คน)

6. การติดเชื้อเป็นกระจุกเล็ก ๆ มีมาในอดีตหลาย 10 ปีที่แล้วเช่นในสหรัฐ เป็นต้น

7. วัคซีนฝีดาษ ที่พวกเราสมัยก่อนเคยได้รับเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะได้ผลกับ monkey pox ก็ถือเป็นวัคซีนที่มีผลข้างเคียงพอสมควร โดยเฉพาะการเกิดสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันแปรปรวนและมีความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ถึง 50%

และวัคซีนรุ่นใหม่ ถึงมีการพัฒนาแต่ก็ไม่ได้ใช้แพร่หลาย เนื่องจากตัวโรคเองนั้นไม่ได้มีความน่ากลัวรุนแรงแพร่กระจายในวงกว้างแบบฝีดาษ

8. การรักษายังคงเป็นการประคับประคองตามอาการ แม้ว่าจะมียาที่ใช้ในยุโรป แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่จากคนที่ติดเชื้อออกไปมากกว่า

สรุปสั้น ๆ ก็คือ

การป้องกันตัวขณะนี้ต่อโควิด จะได้ผลเช่นเดียวกันกับฝีดาษวานร ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาสุขอนามัย เมื่อตนเองไม่สบายมีไข้ปวดเมื่อย อย่าอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่นและถ้ามีอาการหนักขึ้นปรึกษาแพทย์

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของเรา เตรียมพร้อมในการวินิจฉัยฝีดาษวานรเรียบร้อยแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo