General

13 เมษายน ‘วันสงกรานต์’ ปีใหม่ไทย สืบสานวัฒนธรรมแบบนิว นอร์มอล

วันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือได้ว่าเป็นวันแห่งการพบปะสังสรรค์ของครอบครัว ลูกหลานที่อยู่ห่างไกล พากันเดินทางกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ที่บางบ้านกว่าจะได้เจอกัน ก็ต้องรอแต่ช่วงเวลานี้เท่านั้น

ประเพณีนี้ไม่ได้มีขึ้นที่ไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังเป็นประเพณีของลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของอินเดียด้วย โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยสันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้น ได้รับวัฒนธรรมมาจาก เทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม

วันสงกรานต์

ประวัติวันสงกรานต์

ตามปกติแล้ว ประเพณีสงกรานต์ของไทย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือนห้าตามจันทรคติ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยแสดงให้เห็นว่า ประเพณีนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ ให้ตราขึ้น กล่าวถึง “พระราชพิธีเผด็จศก” และ “พระราชพิธีลดแจตร” 

พระราชพิธีเผด็จศก เป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่าขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงสันนิษฐานว่า หมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน 5 แสดงว่า ประเพณีสงกรานต์ของหลวง มีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยในสมัยก่อนไทยใช้จุลศักราช การขึ้นปีใหม่จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ตามความหมายในภาษาสันสกฤต สงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน

ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียกว่า “สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวัน และเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสุริยคติซึ่งถือปฏิบัติในอินเดีย

ในสมัยโบราณไทยนับเดือนตามจันทรคติ และฉลองการขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม ประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับมาจากอินเดีย เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเวลาที่คนไทยว่างจากการทำนา จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลานั้นด้วย

วันสงกรานต์

ช่วงเวลาฉลองสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น อาจไม่ตรงกันทีเดียว โดยปรกติอยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ในล้านนาบางปีสงกรานต์อาจอยู่ในช่วงวันที่ 14-16 เมษายน ในภาคกลางนิยมทำบุญตักบาตรในวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันมหาสงกรานต์ คือเป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา คือวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ (วันผู้สูงอายุ)
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา (วันครอบครัว)
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก

กิจกรรมวันสงกรานต์ 

เนื่องจากยึดถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย กิจกรรมในวันสงกรานต์ ที่ยึดถือกันมา จึงเน้นไปที่ความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา มีทั้งการทำบุญ แสดงความกตัญญู และพบปะสังสรรค์ สร้างความสนุกสนาน

  • ทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด

เพื่อสืบทอด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

  • ก่อเจดีย์ทราย (ขนทรายเข้าวัด)

จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ 13-15 เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด

วันสงกรานต์

  • ปล่อยนกปล่อยปลา

เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ที่นิยมทำในวันสงกรานต์ ซึ่งมีประวัติเล็กน้อย คือ ก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็นห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย

  • ทำบุญอัฐิ

เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน หรือบางท้องถิ่นอาจจัดรวมกันที่วัดก็ได้

วันสงกรานต์

  • สรงน้ำพระ

มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี เหตุที่มีการสรงน้ำ รดน้ำ สาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อ ที่ว่าการสาดน้ำ จะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำการเพาะปลูก ทำไร่ไถนาก็ได้ผล ประการหนึ่ง และถือกันว่าน้ำเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้น้ำจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆ อาบน้ำ ซัดน้ำ หรือรดน้ำ เมื่อทำพิธีสมรส อาบน้ำเมื่อตาย อาบน้ำเมื่อโกนจุก หรือบวชนาค

  • รดน้ำขอพรผู้ใหญ่

ใช้น้ำสะอาด หรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สด เพื่อแสดงความเคารพนับถือ ซึ่งการเตรียมของเพื่อแสดงความเคารพนั้นจะต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น

วันสงกรานต์

  • เล่นสาดน้ำ

เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่หรือที่มือ พร้อมกับคำอวยพรให้มีความสุข

ฉลองสงกรานต์ แบบนิว นอร์มอล 

นับแต่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 รูปแบบการฉลองสงกรานต์ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในความพยายามที่จะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับการฉลองเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 อย่างอบอุ่นใจ ในรูปแบบนิวนอร์มอลนั้น อาจต้องเข้มงวดในเรื่องการดูแลตัวเอง และคนรอบข้างด้วย อาทิ จะเดินทางไปเที่ยวที่ไหนอย่าลืมหน้ากากอนามัย และ เจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้ขาดสติ ลดการระมัดระวังลงมา

นอกจากนี้ หลังจากการเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับจากภูมิลำเนา ในช่วงสงกรานต์แล้ว ควรสังเกตอาการตัวเองภายใน 7 วัน เพราะระหว่างการเดินทาง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แม้จะมีการป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะสัมผัสเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo