General

‘สาธิตธรรมศาสตร์’ สอนอะไร? ทำไม ‘นายกรัฐมนตรี’ ต้องห่วงถึงขั้นสั่งจับตา!!

“โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ “สาธิตธรรมศาสตร์” สอนอะไร? ทำไม “นายกรัฐมนตรี” สั่งจับตา ห่วงมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักสูตรของ “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ “สาธิตธรรมศาสตร์” ว่า กำลังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปดูอยู่ เนื่องจากกังวลว่า อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบันนั้น

สาธิตธรรมศาสตร์

#TheBangkokInsight ได้รวบรวมหลักสูตรของ “สาธิตธรรมศาสตร์” มาให้ได้อ่านกัน

โดยเฟซบุ๊ก โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นที่บ่มเพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ให้สามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เป็นมนุษย์ที่สนใจสิ่งต่างๆรอบตัว ค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง สามารถตัดสินใจเลือกและลงลึกในสิ่งที่รักจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติ ต่อยอดการเรียนรู้จากสิ่งที่เลือก สิ่งที่สนใจ สิ่งที่รักสู่การค้นพบความรู้ใหม่ๆ ด้วยตนเอง เห็นความเป็นไปของสังคม กล้าคิด กล้าสงสัย สื่อสารอย่างเป็นระบบ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ค้นพบแนวทางในการสร้างสมดุลให้ชีวิต มีความหมาย และมีความสุข

สำหรับหลักสูตรของ “สาธิตธรรมศาสตร์” ที่เผยแพร่ผ่านทาง https://satit.tu.ac.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทางโรงเรียน ระบุว่า

สาธิตธรรมศาสตร์

ก้าวแรก ระบบการศึกษาที่เน้นท่องจำมากกว่าทำความเข้าใจ และบรรยากาศของการแข่งขันเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามค่านิยมของสังคม กลายเป็นปัญหาที่สะสมอยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาไทย จนส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดความสุขในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มองโรงเรียนเป็นเพียงพื้นที่แห่งการแข่งขัน และเติบโตเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาโดยปราศจากการค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นที่บ่มเพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ให้สามารถเติบโตอย่างมีมิติ เป็นมนุษย์ที่สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง สามารถลงลึกในสิ่งที่รักจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นรากฐานสู่การต่อยอดไปยังการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “การเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งประเสริฐสุดของชีวิต” โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแบบ “ระบบนิเวศการเรียนรู้” ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ หลักสูตร ครูและบุคลากรในโรงเรียน และสังคม (พ่อแม่ ผู้ปกครอง และปัจจัยอื่นๆ ที่ล้อมรอบตัวผู้เรียน) ซึ่งการให้ความใส่ใจจากทุกองค์ประกอบเพื่อส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

สาธิตธรรมศาสตร์

หลักสูตรมัธยมต้น

งานวิชาการ – ACADEMIC DEPARTMENT
ระบบนิเวศการเรียนรู้ – Learning Ecosystem

ระบบนิเวศการเรียนรู้ เป็นระบบที่จะเกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เพื่อให้สมาชิกทุกส่วนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพร่วมกัน ประกอบด้วยสมาชิก 5 ส่วนหลัก ดังนี้

  1. นักเรียน เป็นผู้ต้องการเติบโต กระหายในการเรียนรู้ และเป็นนักเรียนรู้
  2. ครอบครัว เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ให้ทรัพยากร ให้ประสบการณ์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษา/โค้ช
  3. โรงเรียน เป็นหน่วยเตรียมพื้นที่แห่งการเติบโต ประสานความร่วมมือ และจัดหาทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้
  4. ครู/อาจารย์ เป็นผู้เข้าใจศาสตร์ต่าง ๆ อย่างถึงแก่นแท้และเชื่อมโยง ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นที่ปรึกษา/โค้ช
  5. สังคม/ชุมชน เป็นแหล่งทรัพยากร ให้ประสบการณ์ตรง สนับสนุน และร่วมแบ่งปัน

หลักสูตร – CURRICULUM

นวัตกรสังคม – Social Innovator

โรงเรียนมุ่งพัฒนาให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการ หรือรูปแบบการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อแก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาทางสังคม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมได้ต่อไป

กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ – Learning Areas

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยรูปแบบ “กลุ่มประสบการณ์” ที่มีสาระองค์ความรู้ครอบคลุมชุดความรู้ตาม มาตรา 23 และดำเนินการบริหารจัดการหลักสูตรอิงหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง พ.ศ.2551 ตลอดจนองค์ความรู้ใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ คือ

  1. กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics)
  2. กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ มนุษย์และสังคม (People and Society)
  3. กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ สุขภาพและสุขภาวะ (Health and Well-being)
  4. กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้การสื่อสารและภาษา (Communication and Languages)
  5. กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ สุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts) ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเอกสารหลักสูตร

โครงสร้างเวลาเรียน

นักเรียนในแต่ละชั้นปีจะได้เรียนรู้ครบทั้ง 5 กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ โดยมีจุดเน้น ที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการทางสมอง และลำดับขั้นของการเรียนรู้ ดังนี้

  • ม.1 เน้นการพัฒนาด้านการณ์การเรียนรู้การสื่อสารและภาษา เป็นการพัฒนาพื้นฐานของการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ศาสตร์อื่นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ม.2 เน้นการพัฒนาด้านมนุษย์กับสังคม เป็นการพัฒนาคุณลักษณะด้านสังคม
  • ม.3 เน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นการพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น

โดยการพัฒนาด้านสุขภาพและสุขภาวะจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามช่วงพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน และด้านสุนทรียะทางศิลปะจะได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับด้านอื่น ๆ

สาธิตธรรมศาสตร์

หลักสูตรมัธยมปลาย

หลักการสำคัญของการจัดการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

  • Personalized Learning

Personalized Learning เป็นการมุ่งสนับสนุนผู้เรียนแต่ละคนให้ค้นพบความชอบ ความถนัด และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้และเลือกเรียนรู้ในประเด็นที่ตนสนใจ โดยไม่มีการปิดกั้นจากขอบเขตของการแบ่งสายการเรียนแบบเดิม ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลอย่างเข้มข้น และความร่วมมือจากผู้ปกครองและเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง

  • Competency-Based Education

Competency-Based Education เป็นระบบการศึกษา (Educational System) ที่สนับสนุน Personalized Learning กล่าวคือ ดำเนินการจัดการศึกษาโดยเอาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยใช้เวลาและวิธีการอย่างยืดหยุ่นตามธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งกระบวนการของการศึกษา โดยมีระบบสนับสนุนการเรียนรู้และการให้คำปรึกษาที่เข้มแข็ง และระบบการประเมินสมรรถนะที่สอดคล้องควบคู่ไปด้วย

สาธิตธรรมศาสตร์

เส้นทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น (TSS FLEXIBLE PATHWAY)

เป็นโครงสร้างการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียน ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกรายวิชาเฉพาะทางที่ตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายในอนาคตของตนเอง ซึ่งผู้เรียนสามารถวางเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง (Personalized Learning Pathway) ได้ ภายใต้การให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นจากครูที่ปรึกษา

สาธิตธรรมศาสตร์

สมรรถนะหลักของผู้เรียน (CORE COMPETENCY)

สมรรถนะหลักของผู้เรียน (Core Competencies) คือ กลุ่มของทักษะ ความรู้ ความสามารถ พฤติกรรม คุณลักษณะ และทัศนคติ ที่หลักสูตรมุ่งพัฒนาให้เกิดกับผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม แบ่งเป็น 2 ด้านคือ สมรรถนะทั่วไป (General Competency) ประกอบด้วยทักษะ คุณสมบัติ และคุณลักษณะแห่งอนาคต และ สมรรถนะทางวิชาการ (Academic Competency) ประกอบด้วยความสามารถทางวิชาการ ในการเข้าใจและนำความรู้ไปใช้

สมรรถนะหลักดังกล่าวเป็นหนึ่งในเกณฑ์การสำเร็จการศึกษา ซึ่งทุกคนจะต้องพัฒนาตนเองให้ได้ถึงระดับมาตรฐานทุกสมรรถนะ นอกจากนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนต้องมีทักษะทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสุขภาพสุขภาวะที่ดีด้วย

สาธิตธรรมศาสตร์

โครงสร้างหลักสูตร

หลักสูตร มุ่งเน้นให้ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้าใจและเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้ที่หลากหลาย ต่อยอดลงลึกในศาสตร์ที่ตนสนใจ โดยผู้เรียนวางแผนและกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ร่วมกับครูที่ปรึกษา จัดการเรียนการสอนแบบรายวิชา Block Course โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มพื้นฐานการเรียนรู้ (Foundation) 80 หน่วยกิต และ กลุ่มการเรียนรู้เฉพาะทาง (Concentration) อย่างน้อย 40 หน่วยกิต โดยและประเภทประกอบด้วยรายวิชา และโครงงาน

บทบาทครู ในฐานะผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (LEARNING SUPPORT TEAM)

ครู มีหน้าที่สนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งเป้าหมายสำหรับการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีบทบาทที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และกระบวนกร

ทั้งนี้ผู้เรียนจะทำงานร่วมกับครูที่ปรึกษาอย่างเข้มข้นผ่านระบบการให้คำปรึกษา (Advisory) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีทิศทางในการวางแผนการเรียนรู้ กำกับ ติดตาม ดูแลให้ผู้เรียนบรรลุแผนที่วางไว้ และช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบความชอบ ความถนัด นำตนเองได้ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ รวมทั้งการช่วยแก้ไขปัญหาที่ผู้เรียนอาจเผชิญ

สาธิตธรรมศาสตร์

ช่วงการเรียนรู้ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (TSS STAGE OF LEARNING)

ช่วงการเรียนรู้ คือแผนที่การเดินทางสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วยสิ่งที่ผู้เรียนสามารถทำได้ในแต่ละช่วงการเรียนรู้ (รายวิชาและกิจกรรม) ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละช่วงการเรียนรู้ (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล) และเกณฑ์การก้าวสู่ช่วงถัดไป (พิจารณาจากความสามารถเป็นหลัก)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK