General

วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 สืบสานประเพณี ‘สะเดาะเคราะห์-ขอขมาพระแม่คงคา’

“วันลอยกระทง” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประเพณีที่แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศเอเชีย ถูกกำหนดขึ้น โดยเชื่อว่า เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพในคติฮินดู

แต่เทศกาลนี้มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีน และอินเดียโบราณ และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างเมียนมา ใช้ชื่อว่า “เทศกาลตาซองได” และจีน ใช้ว่า “เทศกาลโคมลอย”

วันลอยกระทง

วันลอยกระทงในไทย 

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของอินเดีย ที่ไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่า มีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมนั้นน่าจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา มีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา ที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดีย แบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้

ตำนานของไทย ระบุไว้ว่า ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า พิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง มาใช้ใส่เทียนประทีป

ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน”

แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่า ประเพณีไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วย เพราะดอกบัวดังกล่าวหายาก และมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวย จึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วันลอยกระทง

ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

ภาคเหนือ

นิยมทำโคมลอย เรียกว่า “ลอยโคม” หรือ “ว่าวลม” หรือ “ว่าวไฟ” ทำจากผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน

ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) หรือโคมลอยบนน้ำรูปทรงต่าง ๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในอดีต เรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น  จังหวัดร้อยเอ็ด  มีชื่องานประเพณีว่า “สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป” ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง

จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

วันลอยกระทง

ภาคกลาง

มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด โดย กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

ส่วนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้

อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

shutterstock 1824663653

ความเชื่อใส่ของลงในกระทง

ในการลอยกระทงนั้น ยังมีความเชื่อถึงการใส่สิ่งของลงไปในกระทงที่ลอยออกไปด้วย

  • เงิน

ในสมัยอยุธยา เชื่อว่าการใส่เศษสตางค์ลงในกระทง เป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่าจะทำให้ร่ำรวย มีเงินทองไหลมาเทมาตลอดปี

  • เส้นผมและเล็บ

เชื่อว่าเป็นการทำให้เคราะห์ร้ายหรือสิ่งไม่ดีลอยออกไปจากตัว และจะมีสิ่งดี ๆ เข้ามาแทนที่

  • อาหาร

ชาวจีน เชื่อว่าเป็นการเซ่นไหว้ภูตผีที่อยู่ในแม่น้ำ เนื่องจากจะมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ

วันลอยกระทง

ลอยกระทงให้สนุกและปลอดภัย

จากสถิติในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า วันลอยกระทงมักเกิดอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น อุบัติภัยทางน้ำ รวมถึงอุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้ไฟ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น จึงขอแนะนำวิธีปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยในวันลอยกระทงมาฝากกัน

  • ควรลอยกระทงตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ
  • ไม่ปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง
  • เลือกสถานที่ที่มีความปลอดภัย ตลิ่งไม่สูงชันจนเกินไป
  • ไม่ก้มลงหย่อนกระทงลงน้ำจนต่ำเกินไป เพราะอาจเสียหลักพลัดตกน้ำ
  • ห้ามจุดดอกไม้ไฟใส่ฝูงชน หรือโยนใส่กัน
  • หลีกเลี่ยงการจุดพลุใกล้สายไฟ หรือวัตถุไวไฟต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยบริเวณชุมชน เพราะอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้
  • ไม่ดื่มของมึนเมาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่มา : วิกิพีเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo