General

‘กรมทะเล’ รับซากพะยูนวัยรุ่นเกยตื้น คาดตายเพราะ ‘พิษเงี่ยงปลากระเบน’

กรมทะเล รับซากพะยูนเกยตื้น ชันสูตรหาสาเหตุการตาย เชื่อเกิดจากการถูกเงี่ยงกระเบนแทง ทำให้สัตว์เจ็บปวดอย่างรุนแรงจากพิษของเงี่ยงกระเบน ร่วมกับภาวะการอักเสบติดเชื้อฉับพลัน ภายในช่องท้อง 

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานการเกยตื้น ของกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ว่า พบซากพะยูนเกยตื้น บริเวณแหลมปันหยัง เกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

DU471 พะยูนแหลมป้นหยัง 210325 61

นายสุวิท สารสิทธ์ กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง เป็นผู้พบเจอซากพะยูนตัวดังกล่าว จึงได้แจ้งเบาะแสมายังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ให้เข้าดำเนินการขนย้ายซากพะยูนเกยตื้น

ทางศูนย์วิจัยได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ในการช่วยขนย้ายซากมายังท่าเรือหาดยาว ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากนั้น เจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยจึงทำการการขนย้ายซากพะยูน ไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตํารวจภูธรกันตัง และได้นำซากกลับมายัง ศูนย์วิจัย เพื่อทำการชันสูตรซากหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป

251804
โสภณ ทองดี

หลังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทำการตรวจสอบ พบว่า เป็นพะยูนเพศผู้ ความยาวลำตัวโดยวัดแนบยาว 2.28 เมตร อยู่ในช่วงวัยรุ่น สภาพซากเน่า คาดว่าเสียชีวิตมาไม่ต่ำกว่า 3 วัน  สภาพภายนอกผิวหนังลอกหลุด บวมอืด มีรอยเขี้ยวจากพะยูน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมภายในฝูง และรอยขีดข่วนจากการขนย้าย

นอกจากนี้ ยังพบบาดแผลคล้ายถูกของมีคมบาด บริเวณด้านข้างลำตัว เหนือโคนครีบด้านขวา ขนาดแผลยาว 4.5 ซม. ลึก 1 ซม. ส่วนของทางเดินอาหาร พบลำไส้ทะลักออกมาภายนอกช่องท้องบางส่วน

95563

ส่วนด้านใต้ลำตัวส่วนท้าย โคนหาง และครีบหางพบรอยคล้ายถูกฉลามกัด จำนวน 7 รอย ซึ่งลักษณะบาดแผลที่พบคาดว่า เกิดภายหลังจากการเสียชีวิตแล้ว เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน พบว่า อวัยวะภายในส่วนใหญ่เน่าไปแล้ว ไม่สามารถระบุรอยโรคได้ชัดเจน  ทางเดินอาหารพบหญ้าทะเลเต็มกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่เป็นหญ้าใบมะกรูด พบพยาธิภายในกระเพาะอาหารจำนวนมาก

ส่วนของกระพุ้งลำไส้ ซึ่งอยู่บริเวณส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ พบเงี่ยงปลากระเบนความยาว 14 ซม. แทงทะลุช่องท้องของพะยูนเข้าไปจนถึงเนื้อเยื่อ ของกระพุ้งลำไส้

DU471 พะยูนแหลมป้นหยัง 210325 2

สรุปสาเหตุการเสียชีวิตคาดว่า เกิดจากการถูกเงี่ยงกระเบนแทง ทำให้สัตว์เจ็บปวดอย่างรุนแรงจากพิษของเงี่ยงกระเบน ร่วมกับภาวะการอักเสบติดเชื้อฉับพลัน ภายในช่องท้อง เนื่องจากพบคราบหนองปกคลุมบริเวณลำไส้ จนกระทั่งพะยูนเสียชีวิตในที่สุด

จากนั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างผิวหนัง เพื่อตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ และโครงกระดูกเพื่อศึกษาทางห้องปฏิบัติการต่อไป

“สาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลมาเกยตื้นนั้น ก็มีหลายปัจจัย ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ โรคภัย หรือน้ำมือของมนุษย์ บางแห่งมีการเข้ามาเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากติดต่อกันหลายครั้ง หรือการมาเกยตื้นที่กินเนื้อที่ ความยาวของชายหาดหลายกิโลเมตร นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะชี้ชัดว่าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้เข้ามาเกยตื้น ดังนั้น ผมขอฝากให้พี่น้องประชาชน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากพบเจอสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ให้รีบแจ้งเบาะแสมายังกรมฯ หรือหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าทำการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ได้ทันท่วงที “นายโสภณ กล่าว

DU471 พะยูนแหลมป้นหยัง 210325 56

ทั้งนี้ สถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของพะยูน ทำให้พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2535 และได้มีการสำรวจประชากรพะยูนทางอากาศ ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ  ของพะยูน รวมถึงนิเวศวิทยาของหญ้าทะเล และออกพระราชบัญญัติอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนบ้าน และ แหล่งอาหารของพะยูน เพื่อเป็นแนวทางการจัดการ และอนุรักษ์พะยูนอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ทช. ได้เดินหน้าขับเคลื่อน การดำเนินงานจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในวันที่ 5 เมษายนนี้  ทช.จะนำเรื่องดังกล่าว เข้าที่ประชุม คณะกรรมการนโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อพิจารณา และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo