COLUMNISTS

‘ขยะทะเล’ ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ เพื่อลูกหลานของเรา

Avatar photo
19400

เฟซบุ๊กเพจ “ดร. พิมพ์รพี พันธ์ุวิชาติกุล – Pimrapee Phanwichatikul, Ph.D” ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ ดังนี้

เชื่อไหมคะว่า อีกแค่ห้าปีข้างหน้า ขยะทะเลจะเป็น 1 ใน 3 ของปลาในมหาสมุทร และอีก 30 ปีข้างหน้า ขยะทะเลจะมีมากกว่าปลาในมหาสมุทร  สงสารลูกหลานเราที่สุด

เตรียมบทความนี้เพื่ออภิปรายในสภา ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง แต่ด้วยข้อตกลงในสภาเรื่องระยะเวลา ทำให้ไม่สามารถมีโอกาสได้พูด จึงขอนำบทความมาลงไว้ตรงนี้นะคะ เพื่อให้การตายไปของพยูนน้อยมาเรียม ได้เป็นสิ่งเตือนใจให้เราต้องคัดสินใจเดินหน้าเรื่องขยะทะเลอย่างจริงจัง

guise 1533853 640

ข้อมูลอภิปรายมาตรา 17 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานในกำกับ

ดิฉันนางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอตั้งข้อสังเกตการจัดงบประมาณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 12,471 ล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการปรับลดงบประมาณไปตัวเลขกลม ๆ 102 ล้านบาท ซึ่งเท่าที่ดูไส้ในพบว่าเป็นการปรับลดเกี่ยวกับค่าครุภัณฑ์ ค่าตอบแทน เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยดิฉันให้ความสนใจงบประมาณของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 872 ล้านบาทเศษ ถูกปรับลดไป 12 ล้านบาท

ที่สนใจกรมทรัพยากรทางทะเลเป็นพิเศษ เพราะมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศ การให้งบประมาณ บุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียงพอมีความจำเป็น เพื่อให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ปฏิบัติตามภารกิจที่วางไว้ 8 ข้อได้อย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความเห็น เพื่อจัดทำนโยบายและแผนเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม กฎ ระเบียบ มาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การจัดการและการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อให้มีการใช้อย่างยั่งยืน และการเสนอแนะแหล่งอันควรอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ในการสงวน รักษา คุ้มครอง ควบคุม ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงศึกษา วิจัย พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพืชและสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น

แต่แผนงานตามที่จัดงบประมาณมายังดูเลื่อนลอย ไม่เป็นรูปธรรมอย่างที่ควรจะเป็น

ชื่อของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นในช่วง พะยูนน้อยมาเรียมเกยตื้น และได้รับการอนุบาลจากเจ้าหน้าที่ แต่สุดท้ายเราก็ยื้อชีวิตของมาเรียมไว้ไม่ได้ ลมหายใจที่ไร้เดียงสาของมาเรียมถูกพรากไปจากชิ้นส่วนพลาสติกที่อุดตันในลำไส้ จนทำให้ลำไส้อักเสบ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่งช็อคไปในที่สุด

107284385 sin3165

สาเหตุที่ดิฉันหยิบยกความสูญเสียมาเรียมขึ้นมาอภิปราย เพื่อฝากถึงกระทรวงทรัพยากรให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเรื่อง “ขยะทะเล” อย่างจริงจัง ไม่ใช่เกิดเหตุทีหนึ่งก็ตื่นตูมกันทีหนึ่ง แต่สุดท้ายไม่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ทำให้ปัญหาขยะทะเลไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

โดยควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนไล่ตั้งแต่การรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกไม่ทิ้งขยะไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เพราะการทิ้งขยะชิ้นเดียวของคนหนึ่งคนอาจสร้างโศกนาฎกรรมต่อสัตว์ไร้เดียงสาได้อย่างคาดไม่ถึง

ช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจังว่า “การทิ้งขยะไม่เป็นที่ไม่แตกต่างจากฆาตกรที่นำความตายไปสู่สัตว์ไร้เดียงสา” และกำลังเป็นภัยเงียบที่ย้อนกลับมาสู่มนุษย์โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวด้วย

ดิฉันขออนุญาตหยิบยกข้อมูลในบทความ “ขยะ” ระเบิดเวลาสิ่งแวดล้อม ของ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุว่า มีการประมาณการว่าภายในปี 2568 มหาสมุทรควรจะมีปริมาณขยะพลาสติก 1 ตันต่อปริมาณปลาทะเล 3 ตัน ซึ่งขยะเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ ตลอดจนห่วงโซ่อาหารทั้งมหาสมุทรทั่วโลกอย่างมหาศาล ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 ในการปล่อยขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก

ในบทความชิ้นเดียวกันยังระบุด้วยว่า ในปี 2593 ขยะจะมีมากกว่าปลาในมหาสมุทร และมีการอ้างถึงการแบ่งสาเหตุแห่งการตายของสัตว์ทะเลหายาก ของ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ไว้ว่า โลมา และวาฬ กินขยะร้อยละ 60 ส่วนเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและลำตัวสูงถึงร้อยละ 70

ภัยร้ายที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลคือ “พลาสติกขนาดจิ๋ว” หรือ ไมโครพลาสติก ซึ่งในบทความนี้ชี้ว่า พบไมโครพลาสติกในกระเพาะของสัตว์น้ำหลายชนิด อาทิ ปลา หอย เต่า แมวน้ำ เม่นทะเล และไส้เดือนทะเล

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับสัตว์ทะเลเท่านั้น แต่รวมถึงมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนสารพิษจากขยะพลาสติกด้วย จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาตระหนักถึงการจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบ

GettyImages 1191048624

จากสถิติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเอง ระบุไว้ว่า “ถุงพลาสติก” มีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 16.35 ของขยะในทะเลไทยทั้งหมด รองลงมาคือ กล่องโฟมใส่อาหาร ห่อหรือถุงอาร ถุงก๊อบแก๊บ และขวดแก้ว และส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่งล้วนเป็นขยะที่มีส่วนประกอบจากพลาสติกที่ย่อยสลายยากทั้งสิ้น

ขณะที่ขยะในทะเลไทยมีมากกว่า 11 ล้านตันต่อปี แม้จะมีพื้นที่ทะเลไม่เยอะเหมือนกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งย้ำเตือนว่าทางการไทยจะนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ต้องผลักดันการแก้ปัญหาขยะทางทะเลเป็น “วาระแห่งชาติ” บนหลักคิดที่ว่า ทำอย่างไรที่จะมีการลดขยะ กำจัดขยะอย่างถูกวิธี และนำไปรีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินโครงการ “มาเรียมโปรเจค” เพื่อใช้ชีวิตมาเรียมมาถอดบทเรียนสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยจากขยะ รณรงค์ ละเลิก ใช้พลาสติก อย่างที่ทำมาถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ดี แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะขาดการบูรณาการกับเครือข่ายประชาสังคม ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับประชาชน และไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง จนไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้ จนนำไปสู่ความตื่นตัวของประชาชนได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังไร้แผนคู่ขนานที่ควรจัดการปัญหาขยะในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุมเข้มตรวจสอบสถานที่ท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ ว่า มีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีหรือไม่ มีใครเห็นแก่ตัวเอาเปรียบสิ่งแวดล้อมอยู่หรือเปล่า เพราะหลายพื้นที่มักง่ายแอบทิ้งขยะลงทะเล จึงต้องมีมาตรการจัดการที่เคร่งครัดและเอาจริงเอาจัง มากกว่าแค่การรณรงค์สร้างจิตสำนึก แต่ต้องมี บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่มักง่าย ทำลายสิ่งแวดล้อม จนลืมไปว่าสุดท้ายความมักง่ายนั้นจะกลับมาทำลายตัวเอง

เรื่องขยะในทะเลไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังถือเป็น ปัญหาของภูมิภาค ด้วย เพราะมีอาณาเขตเชื่อมต่อหลายประเทศ ขยะที่เห็นกันอยู่อาจจะลอยมาจากประเทศอื่นวนกันไปมา ขยะบ้านเราอาจไปเกยฝั่งประเทศอื่น ขยะประเทศอื่นอาจมาเกยที่บ้านเรา จึงต้องยกระดับให้มีความร่วมมือในระดับภูมิภาค ต้องกำหนดให้เป็น “วาระแห่งอาเซียน” เพื่อวางแผนการจัดการขยะร่วมกันทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งเรื่องนี้ท่านประธานชวน หลีกภัย ก็เคยหยิบยกขึ้นมาระหว่างการกล่าวเปิดประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือ AIPA ด้วย และอาเซียนเองก็เริ่มจริงจังเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ หลังจากการประชุมการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนปี 2561

ดิฉันขอหยิบยกคำกล่าวของคุณอรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่ระบุไว้เกี่ยวกับสถานการณ์ขยะในแผ่นพับสถานการณ์ป่าไม้ไทยประจำปี 2559-2560 ที่ว่า “แค่ทิ้งขยะคนละชิ้น มหาสมุทรก็สิ้นแล้ว” มาย้ำเตือนไม่ให้มองข้ามภัยร้ายจากขยะ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า ขยะไม่เพียงแต่จะทำให้มหาสมุทรสูญสิ้น แต่มนุษย์ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารจะได้รับอันตรายจากภัยที่ตัวเองเป็นผู้สร้างด้วย สุดท้ายหากเราทำแบบสุกเอาเผากิน การตายของมาเรียมอาจนำไปสู่ความตายของมนุษย์ในอนาคตก็ได้

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรทำยุทธศาสตร์ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธรรมชาติที่งดงามย่อมนำมาซึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย

ดังนั้นหากยังขาดการบูรณาการที่ดี และแผนดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ก็ควรปรับลดงบประมาณลงร้อยละ 0.1ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไป