General

มหาดไทย ยัน ป่าแก่งกระจาน เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ไม่ใช่พื้นที่อยู่อาศัย

มหาดไทยออกโรง แจง ป่าแก่งกระจาน เป็นป่าอนุรักษ์ ไม่ใช่พื้นที่อยู่อาศัย หลังชาวบ้านร้องแก้ปัญหาชุมชน ก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

รายงานข่าวจาก กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า กรณีชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณา การขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ปัญหาของชุมชน ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่อง ขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นผืนป่ามรดกโลก นั้น

แก่ง1

จากข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ได้แก่

1. ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน

2. ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย

3. ขอกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคย ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานการชี้แจงข้อเท็จจริงจากจังหวัดเพชรบุรี ดังนี้

1. ในปี 2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กองกำลังสุรสีห์ และหน่วยงานความมั่นคง ได้อพยพย้ายมาบริเวณพื้นที่ใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ปรากฏเชื้อชาติ สัญชาติ ให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณบ้านโป่งลึก โดยจัดที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย จำนวน 57 ครอบครัว 391 คน และตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านบางกลอย ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และบางส่วนอาศัยอยู่กับญาติบริเวณบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2

ต่อมา ในปี 2555 – 2557 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบมีบุคคลเข้าไปบุกรุกแผ้วถาง และอาศัยอยู่ในบริเวณใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน จึงได้มีการสนธิกำลังร่วมกับฝ่ายทหาร ปกครอง ตำรวจ ทำการผลักดันและตรวจยึดพื้นที่ ซึ่งราษฎรส่วนหนึ่งมาจากบ้านบางกลอย ที่กลับขึ้นไปทำกินกับราษฎร ส่วนหนึ่งที่มาจากประเทศเมียนมาร์

บางกลอย

2. ปัจจุบันไม่มีการบุกรุกยึดถือครอบครอง หรือตั้งที่อยู่อาศัยทำการเกษตร ในบริเวณพื้นที่ใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบน พื้นที่มีสภาพเป็นป่าฟื้นตัว ราษฎรบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ได้รับการสำรวจที่ดินตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับการสำรวจแล้ว ให้กรรมการพิจาณาผลการสำรวจการครอบครองที่ดิน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและแก้ไขปัญหา โดยราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นประชากรครอบครัวขยาย ไม่สามารถขยายพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ และควรใช้คณะกรรมการ คทช. เข้ามาดำเนินการจัดหาพื้นที่นอกเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อรองรับต่อไป

3. กรณีการขอกลับไปพื้นที่ใจแผ่นดิน เป็นข้อเรียกร้องของประชากรบางส่วน ไม่ใช่ประชากรทั้งหมดของหมู่บ้าน  ควรตรวจสอบรายชื่อกับบัญชีการครอบครองที่ดิน ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ที่มีการจัดทำข้อมูลไว้แล้ว

ขณะที่พื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน มีสภาพเป็นป่าและต้นน้ำลำธารที่สูง สภาพป่ามีการ ฟื้นตัวดีไม่ควรจัดเป็นที่อยู่อาศัย โดยในปัจจุบันหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง จนมีรายได้ดีขึ้น มีการจัดการศึกษา พัฒนาระบบการเกษตร และการดูแลสุขภาพอย่างดี

ดังนั้น กรณีชาวบ้านบางกลอยบางส่วน ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม และอ้างว่าเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับ กระทรวงมหาดไทย นั้น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ได้ประสานอำเภอแก่งกระจาน ทราบว่าหมู่บ้านดังกล่าว อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และป่าสงวนแห่งชาติยางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ พื้นที่ดังกล่าว จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo