General

เปิดที่มา 8 มีนาคม ‘วันสตรีสากล’

วันสตรีสากล หรือชื่อเดิม ‘วันสตรีแรงงานสากล’ ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี โดยแต่ประเทศ แต่ละพื้นที่ ต่างฉลองวันนี้แตกต่างกันออกไป ทั้งในรูปแบบที่แสดงความนับถือ ความซาบซึ้ง และความรักต่อผู้หญิง เชิดชูยกย่องในเรื่องความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

woman 281473 640

แต่เดิมนั้น วันนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักในเรื่องของการเมือง สังคมนิยม ก่อนที่จะเกิดการปรับเปลี่ยน กลืนเข้ากับวัฒนธรรมต่างๆ จนในบางประเทศ กลายเป็นเหมือนวันแม่ ผสมกับวันแห่งความรัก แต่ในบางประเทศก็ยังยึดมั่นในจุดยืนเดิม เน้นเรื่องการเมือง และสิทธิมนุษยชน รวมถึง การต่อสู้ของผู้หญิงทั่วโลกในด้านต่างๆ

กว่าจะมีวันนี้เกิดขึ้นได้นั้น เหล่าแรงงานหญิงต้องใช้เวลาการต่อสู้นานนับปี เริ่มขึ้นจากแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ รวมตัวประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2400

จากนั้นในปี 2450 “คลาร่า เซทคิน” นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ปลุกระดมแรงงานหญิง ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม 2450 เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานของแรงงานหญิงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง จากที่พวกเธอต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

แม้การเรียกร้องในครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ มีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ “คลาร่า เซทคิน” และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

GettyImages 1210889826

 

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2451 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม 2453 ความพยายามของเหล่าแรงงานหญิง ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดาแรงงานสตรี ในระบบ “สาม 8”  คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน ทั้งยังได้ปรับค่าแรงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรี และแรงงานเด็กอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้รับรองข้อเสนอของ “คลาร่า เซทคิน” ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล

ที่มา : Wikipedia

Avatar photo