General

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ‘โรคแบคทีเรียกินเนื้อ’ ในญี่ปุ่นสูงเป็นประวัติการณ์ ผลจาก ‘หนี้ภูมิคุ้มกัน-การขโมยภูมิคุ้มกัน’ หลังโควิด

ผู้เชี่ยวชาญชี้ “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” ในญี่ปุ่นสูงเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจาก “หนี้ภูมิคุ้มกัน-การขโมยภูมิคุ้มกัน” หลังโควิด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตสุขภาพหลัง COVID-19 ที่ส่งผลให้อุบัติการณ์โรคแบคทีเรียกินเนื้อ (สเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ) พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

“โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” พบได้ยากแต่กลับระบาดรุนแรงในอัตราที่สูงมากที่ญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล รวมถึงสถานะภูมิคุ้มกันของผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจมีผลต่อความไวในการรับเชื้อบางชนิด

การเชื่อมโยงระหว่างโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคทางเดินหายใจอื่นๆ สามารถอธิบายได้ผ่านแนวคิดใหม่ๆ อย่างเช่น “หนี้ภูมิคุ้มกัน” (immunity debt) และ “การขโมยภูมิคุ้มกัน” (immunity theft) การศึกษาผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 จะทำให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัส ภูมิคุ้มกัน และเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งจะกำหนดทิศทางระบาดวิทยาโรคติดเชื้อในอนาคต

แบคทีเรียกินเนื้อ

การระบาดของแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ

โรคติดเชื้อแบคทีเรีย “สเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์สเตร็ปโตคอคคัส ไพโอจีเนส (Streptococcus pyogenes) พบได้บ่อยในเด็กที่มีอาการเจ็บคอแบบไม่มีอาการ โดยในอดีตที่ผ่านมาพบได้ยากที่ก่อให้เกิดอันตรายซึ่งขณะนี้กลับพบการแพร่ระบาดก่ออาการรุนแรงในอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในญี่ปุ่น มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating disease/ flesh-eating bacteria)” โดยทางการยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด

การระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างซับซ้อนต่อระบาดวิทยาของโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกด้วย ดังเช่น สถานการณ์น่าเป็นห่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่ก่อโรครุนแรงและอันตรายที่เรียกว่า Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) ที่ทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนละเลยการป้องกันโรคเหล่านี้ และกระตุ้นให้ทางการต้องเร่งควบคุมการระบาดนี้โดยทันที ด้วยการเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

จำนวนผู้ติดเชื้อในปี 2024 คาดว่าจะสูงกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ความกังวลเพิ่มขึ้นว่าจะแพร่ระบาดต่อไปในญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นพบว่ามีผู้ป่วย STSS รายงานถึง 941 รายในปีที่แล้ว 2023 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ 2024 มีรายงานแล้วถึง 378 ราย

หนังสือพิมพ์ The Japan Times เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม 2024 มีการตรวจพบผู้ป่วย STSS ใน 45 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัดในญี่ปุ่น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ต่างงุนงงกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้

แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่สายพันธุ์นี้ทำให้ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 50 ปีเสียชีวิตมากขึ้น โดยจากข้อมูลของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases: NIID)  ระบุว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2023 ผู้ป่วย 1 ใน 3 ที่เสียชีวิตจากโรค STSS มีอายุต่ำกว่า 50 ปี

โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ มักรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วทันท่วงทีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันภาวะแทรกซ้อน

แบคทีเรียกินเนื้อ

ญี่ปุ่นกังวลต่อการระบาด จากการลดระดับการป้องกันตนเองจากโควิด

ศ. เคน คิคุชิ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว ระบุว่า “กังวลมาก” กับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสชนิดรุนแรงในปีนี้

ศ. คิคุชิ เชื่อว่าการปรับลดระดับความรุนแรงของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ไพโอจีเนส เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้คนละเลยมาตรการป้องกันพื้นฐาน เช่น การฆ่าเชื้อที่มือเป็นประจำ

นอกจากนี้ ศ. คิคุชิประเมินว่า “มากกว่า 50% ของคนญี่ปุ่นได้รับเชื้อไวรัสโคนา 2019 เป็นที่เรียบร้อย” และ “สถานะภูมิคุ้มกันของคนเหล่านี้หลังจากหายจากโควิด-19 อาจมีผลต่อความไวในการรับเชื้อบางชนิด เราจำเป็นต้องทำความกระจ่างในวงจรการติดเชื้อของเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ไพโอจีเนส ชนิดรุนแรงนี้ และต้องควบคุมมันโดยทันที”

การติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส เช่นเดียวกับโควิด-19 แพร่กระจายผ่านละอองฝอยและการสัมผัสทางกายภาพ แบคทีเรียนี้ยังสามารถแพร่เชื้อผ่านบาดแผลที่มือและเท้าของผู้ป่วยได้ด้วย

ผลกระทบที่รุนแรงของ STSS คือ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) อาจเกิดการตายเฉพาะที่ (necrosis) เนื่องจากการติดเชื้อและพิษของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อเน่าตาย จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายออกไป และในบางกรณีอาจต้องตัดอวัยวะบางส่วนเพื่อป้องกันการลุกลาม โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “โรคกินเนื้อ (flesh-eating disease)” มีรายงานว่าการระบาดของโรคนี้ในญี่ปุ่นเป็นสาเหตุให้เกาหลีเหนือยกเลิกเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างเกาหลีเหนือกับญี่ปุ่นซึ่งมีกำหนดจะเตะที่กรุงเปียงยาง ใน 26 มีนาคมนี้ โดยจะไม่มีการย้ายสนามแต่อย่างใด

แบคทีเรียกินเนื้อ

หนี้ภูมิคุ้มกันการขโมยภูมิคุ้มกัน หลังการระบาดของโควิด

การเชื่อมโยงระหว่างโควิด-19 และการระบาดของโรคทางเดินหายใจอื่นๆ สามารถอธิบายได้ผ่านแนวคิดใหม่ๆ อย่างเช่น “หนี้ภูมิคุ้มกัน” (immunity debt) และ “การขโมยภูมิคุ้มกัน” (immunity theft)

“หนี้ภูมิคุ้มกัน” หมายถึง ภาวะที่ร่างกายขาดการสัมผัสกับเชื้อโรคทั่วไป อันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายเกิดช่องโหว่ (immunity gap) โดยเฉพาะในเด็ก อ่อนแอลง และมีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อต้องเผชิญเชื้อโรคหลังการยกเลิกมาตรการเหล่านั้น

ในขณะที่ “การขโมยภูมิคุ้มกัน” ให้ความหมายในเชิงที่ว่า การติดเชื้อ SARS-CoV-2 อาจบั่นทอนความสามารถของระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้ผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากไวรัส ไม่ใช่ผลจากการเว้นระยะห่างทางสังคม

การป้องกัน STSS ทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือบ่อยๆ หากมีบาดแผลให้รีบล้างน้ำเพื่อให้แผลสะอาด และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจต้องตัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกและให้การรักษาประคับประคองในหอผู้ป่วยหนัก

โควิด-19 สอนให้เราตระหนักถึงความเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนระหว่างโรคอุบัติใหม่และพลวัตของระบบนิเวศวิทยาโรคติดต่อที่มีอยู่เดิม การศึกษาถึงผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 จะช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัสโคโรนา ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของระบาดวิทยาโรคติดเชื้อในอนาคต

ข้อมูลเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ

สิ่งที่ความรู้เกี่ยวกับเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ที่ก่อโรครุนแรงและอันตรายที่เรียกว่า Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS)  จากสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US CDC)

เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ทำให้เกิด STSS

แบคทีเรียที่เรียกว่าเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ สามารถทำให้เกิด STSS เมื่อแพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อลึกและกระแสเลือด

วิธีที่คุณจะติด STSS

สำหรับคนเกือบครึ่งที่ติด STSS ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบว่าแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร บางครั้งแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น การบาดเจ็บหรือแผลผ่าตัด แบคทีเรียยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อเมือก เช่น ผิวข้างในจมูกและลำคอ

STSS ติดต่อได้ยาก

เป็นเรื่องที่หายากมากที่คนที่เป็น STSS จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ใดๆ ก็สามารถกลายเป็น STSS ได้

อาการจะแย่ลงไม่นานหลังจากที่เริ่มมีอาการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo