General

‘กรมควบคุมโรค’ วอน ‘อย่าตื่นตระหนก’ ข่าว ‘แบคทีเรียกินเนื้อ’ ในญี่ปุ่น

กรมควบคุมโรคชี้แจงข้อเท็จจริง การเพิ่มขึ้นของ “โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” ที่เกิดจากการติดเชื้อ “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ในญี่ปุ่น คาดส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน โควิด 19 ร่วมกับอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย

กรมควบคุมโรค ระบุว่า แบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการน้อย หรือปานกลาง ได้แก่ การติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง และเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง

แบคทีเรียกินเนื้อ

ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) ได้แก่ มีการอักเสบอย่างรุนแรงของผิวหนังชั้นลึก หรือเกิดภาวะช็อก ที่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

หนึ่งในอาการแสดงของโรค และอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยคือ “โรคไข้อีดำอีแดง” หรือ Scarlet fever ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้อง เฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกิดได้ทุกช่วงอายุแต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน

ติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิด และหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม และแก้วน้ำ

อาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสาก ๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้ว มีลักษณะคล้ายกระดาษทราย กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5-15 ปี ที่อยู่รวมกัน จำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับปี 2567 ยังไม่พบรายงาน

ส่วนในกรณีอาการรุนแรงนั้น จากระบบโครงสร้างฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (43 แฟ้ม) ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562-2566 กรณี Toxic Shock Syndrome พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จำนวน 204 ราย เฉลี่ยปีละ 41 ราย และมีแนวโน้มลดต่ำลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

ในปี 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 29 ราย ส่วนกรณีโรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด (โดย 1 ในเชื้อสาเหตุคือ “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ”) จากการติดตามในปี 2562 – 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 106,021 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว 1,048 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายประมาณ 1%

แนวโน้มการรายงานผู้ป่วยคงที่ และลดลงในปี  2566 โดยมีอัตราป่วย 27.35 ต่อแสนประชากร (จากเดิมร้อยละ 32.5 ต่อแสนประชากร) พบรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปีแต่สูงสุดในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมของทุกปี

จากการติดตามข้อมูลดังกล่าว ยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในประเทศไทย การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ การได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม จะช่วยให้ลดความรุนแรงของโรค และช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ ในรายที่อาการเป็นมากอาจต้องร่วมกับการผ่าตัดเนื้อตายออก กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้ที่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อน

แบคทีเรียกินเนื้อ

เนื่องจากการแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้ เป็นทางระบบทางเดินหายใจ (โดยอาจร่วมกับการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งหรือหนองจากแผล ในกรณีมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง) และการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้น มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน

การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสถานที่ ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก หรือเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวังควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ ช้อน ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

กรมควบคุมโรคยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อ “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ในญี่ปุ่นนี้อย่างต่อเนื่อง ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แนะนำประชาชน ถ้ามีไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ควรรีบไปพบแพทย์ (โดยเฉพาะถ้าหลังกลับจากต่างประเทศ ภายในช่วง 1 สัปดาห์แรก) เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรคอย่างถูกต้อง

การเดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

 

Avatar photo