General

กรมควบคุมโรค เกาะติดโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่น ไทยเรียก ‘โรคไข้อีดำอีแดง’

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เผยในไทยเรียก โรคไข้อีดำอีแดง ย้ำไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อนี้อยู่

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึง รายงานข่าวกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่น เร่งหาสาเหตุการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ซึ่งทางญี่ปุ่นคาดว่าอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19

โรคไข้อีดำอีแดง

ดังนั้น จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีหลายสายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงมาก และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

สำหรับโรคดังกล่าวอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย เรียกว่า โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ทำให้เกิดการติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ เกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน

โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิด และหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือ สัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น

ส่วนอาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสาก ๆตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้วมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5-15 ปี ที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ หรือคนที่สัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับในปีนี้ 2567 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์
แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์

อย่างไรก็ตาม นอกจากก่อโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อนี้อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อาจมีการลุกลามเร็วได้ ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค รวมถึงการแยกโรคได้อย่างถูกต้อง จะช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้เป็นทางระบบทางเดินหายใจ และการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้นมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก

สำหรับโรคไข้อีดำอีแดงที่กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กวัยเรียน เน้นกำชับให้ทุกโรงเรียนเน้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความสะอาด ทำความสะอาดอุปกรณ์ของใช้ และของเล่นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

กรมควบคุมโรคยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อเสตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ขอแนะนำประชาชน หากมีไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรคอย่างถูกต้อง การเดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo