General

สธ. ไฟเขียว ‘ยาฉีดรักษาจิตเวช’ รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไป ดูแลผู้ป่วย 4.2 หมื่นคนป้องกันก่อเหตุรุนแรง

“ชลน่าน” เผยที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงเห็นชอบให้สำรอง “ยาฉีดรักษาจิตเวช” ใน รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไป ภายในเดือนมีนาคมนี้ ช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงก่อความรุนแรง 4.2 หมื่นคน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2567 ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาและให้ความเห็นชอบเรื่อง การบริหารจัดการยา Long Acting Antipsychotic Injectable ซึ่งเป็นยาฉีดรักษาจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V) ประมาณ 4.2 หมื่นคน

ยาฉีดรักษาจิตเวช

ในจำนวนนี้เป็น กลุ่ม V1 ทำร้ายตนเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต 39.4% กลุ่ม V2 ทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุการณ์รุนแรงในชุมชน 20.3% กลุ่ม V3 มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิต มุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง 18.8% และกลุ่ม V4 ก่อคดีอาชญากรรมรุนแรง 21.5%

ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เร่งสำรองยาภายในเดือนมีนาคมนี้ ให้เพียงพอใช้อย่างน้อย 3 เดือน พร้อมกับดำเนินการให้มีการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้เบิกจ่ายได้ในสิทธิประโยชน์การรักษา โดยระหว่างนี้ให้เสนอบอร์ด สปสช. พิจารณาความจำเป็นเพื่อสนับสนุนการเบิกชดเชยค่าใช้จ่าย

สำหรับด้านกำลังคนสุขภาพ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และสภาการพยาบาล ในโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มระยะเร่งด่วน 2 ปี ปีละ 2,500 คน รวม 5,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดแคลนพยาบาลที่ยังมีความต้องการอีกประมาณ 5 หมื่นคน

ขณะที่สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ 1 : 270 ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วน 1 : 343 คน และยังมีปัญหาเรื่องการกระจาย โดยมีถึง 42 จังหวัดที่มีสัดส่วน 1:400 และมี 15 จังหวัดที่สัดส่วนมากกว่า 1:500 โดยมีข้อสังเกตเรื่องกระบวนการผลิต หลักสูตร การรับรองความพร้อมของแหล่งผลิต และงบประมาณ และมอบให้ สบช.ไปจัดทำรายละเอียดให้พร้อมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ชลน่าน1 3

การผลิตพยาบาลโครงการนี้ เป็นการผลิตเพิ่มเติมจากโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย โดยดำเนินการในปี 2568 มีเป้าหมายการผลิต 9 สาขา หรือ 9 หมอ ในระยะเวลา 10 ปี ใช้งบกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

ถ้าผลิตครบจะมีบุคลากรเข้าสู่ระบบ 6.2 หมื่นคน โดยพยาบาลจะเป็น 1 ใน 9 สาขา ผลิตปีละ 1,000 คน ต่อเนื่อง 10 ปี รวม 1 หมื่นคน เพื่อเป็นทีมหมอครอบครัวลงไปอยู่ชุมชนในหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น

สำหรับความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่วงไตรมาส 2 (Mid-Year Success 2024) มีรายงานผลความก้าวหน้าที่สำคัญหลายเรื่อง ดังนี้

1. โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการแล้ว 16 ครั้ง ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการ 70,683 คน

2. โครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณร เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเปิดโครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ณ วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี

ชลน่าน2 1

เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะ 2

ส่วนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่จะขยายการดำเนินการในระยะที่สองขณะนี้มีความพร้อมทั้ง 8 จังหวัดนำร่อง โดยมีจำนวนสถานบริการสาธารณสุขที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (PHR) แล้ว 857 แห่ง ผู้ป่วย 6.1 ล้านคน และมีชุดข้อมูล 85.1 ล้านชุดข้อมูล

ที่ผ่านมา มีการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider ใน 5 จังหวัด 17 โรงพยาบาล ได้รับแจ้งปัญหาผ่านเบอร์ 02-257-7119 ทั้งหมด 260 สาย สามารถแก้ไขได้แล้ว 245 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง Health ID และ Provider ID อาทิ การแก้ไขเบอร์โทรศัพท์เป็นเบอร์หลัก การอัปเดตโปรไฟล์ไม่สำเร็จ เป็นต้น ได้นำมาแก้ไขให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีการคิกออฟระยะที่สอง ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2567 ที่ จังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบเรื่องที่น่ายินดี คือ องค์การอนามัยโลกได้ออกใบประกาศรับรองให้ประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลก ที่มีการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหาร เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความน่าเชื่อถือของอาหารไทยที่ส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo