General

สภา กทม. ไฟเขียว 6 ข้อเสนอคุมกัญชา ห้ามจำหน่ายรอบโรงเรียน 300 เมตร

สภา กทม. เห็นชอบ 6 ข้อเสนอ กรรมการวิสามัญฯ คุมกัญชา ห้ามจำหน่ายกัญชารอบโรงเรียน 300 เมตร หลังพบเปิดขายกว่าครึ่ง ทำเยาวชนเข้าถึงง่าย

นายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางรัก ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชาหรือกัญชงบริเวณใกล้สถานที่เปราะบาง (สถานศึกษา) แถลงผลรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ทำการศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชากัญหรือกัญชงนั้น

คุมกัญชา

จากการศึกษา ทำให้ทราบว่าร้านจำหน่ายกัญชาในพื้นที่มีอยู่ประมาณ 2,624 ร้าน โดยร้านค้ามากกว่าครึ่งเปิดใกล้สถานศึกษา สถานที่เปราะบาง โดยร้านกัญชาส่วนใหญ่นั้นทำหน้าร้านให้ดูเหมือนร้านขนม ร้านวิดีโอเกมส์ ทำให้ดึงดูดสายตายิ่งทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้น

จากนั้นเมื่อเยาวชนได้รับสารเสพติดเข้าไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย จิตใจ และยังมีโอกาสที่จะนำไปสู่การใช้สารเสพติดประเภทอื่นๆ ได้

คณะกรรมการศึกษาฯเรื่องดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้สำนักอนามัย ซึ่งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการวิสามัญฯ ศึกษาและเสนอ (ร่าง) พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 (กัญชา)

ทั้งนี้ ได้ให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ร่วมกันพิจารณารวมทั้งเชิญผู้แทนสำนักงานกฎหมายและคดี และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ร่วมกันกำหนดข้อเสนอแนะ เพื่อให้ข้าราชการ กทม.เป็นเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจหน่วยงานหนึ่งในการเน้นการตรวจสอบให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการออกใบอนุญาต เพื่อป้องกันการกระทำผิด และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในการแก้ไข (ร่าง) พ.ร.บ. หรือประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

สำหรับกัญชากัญชง ถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน ส่งผลกระทบต่าง ๆ ต่อเยาวชน ทั้งยังมีการนำเสนอผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ออกมาเป็นระยะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พ.ร.บ.ที่ใช้ในการควบคุมกัญชานั้น ไม่ได้กำหนดออกมาด้วย ซึ่งมีเพียงประกาศกระทรวงไม่กี่ฉบับเท่านั้น ทำให้เห็นได้ว่าการควบคุมดูแลนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะเยาวชน

สภากทม

เปิด 6 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการวิสามัญฯ

1. หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประเมินผลดี ผลเสียจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 หากมีผลเสียมากกว่าควรนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และควรใช้เฉพาะทางการแพทย์

2. หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 1 ได้ กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดัน เร่งรัดการออกกฎหมายเฉพาะ กำกับดูแลกัญชาโดยตรง

3. สำนักอนามัยประสานกระทรวงสาธารณสุขให้นำ (ร่าง) พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ร่วมกันพิจารณาแล้วให้ประกาศใช้ต่อไป

4. ประสานขอให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม. ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจในการกำกับดูแลมากขึ้น

5. ควรมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมการแพทย์แผนไทยฯ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เป็นต้น ในการลงพื้นที่เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดกัญชาหรือกัญชงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตที่มีการขออนุญาตจำนวนมาก

6. ควรกำหนดให้พื้นที่โดยรอบสถานศึกษาห้ามจำหน่ายกัญชากัญชงหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาหรือกัญชงในรัศมี 300 เมตร

จากนั้น ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯฉบับนี้ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหาร กทม.พิจารณาต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo