General

กทม. จัดหาเครื่องดับเพลิงยกหิ้วกว่า 2.76 หมื่นถัง ภายในกลางปี 2567 กระจาย 50 เขต

กทม. เปิดมาตรการลดความเสี่ยงปี 2567 เน้นประเมินความเสี่ยงชุมชน ตรวจสอบความปลอดภัยอาคารสูง จัดหาเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว 27,611 ถัง ภายในกลางปี 2567 กระจายทุกชุมชน 50 เขต

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการดำเนินงานด้านมาตรการลดความเสี่ยง การเตรียมพร้อมและฟื้นฟูเยียวยา ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว

รศ.ทวิดา กล่าวว่า ได้แจ้งที่ประชุมทราบถึงรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ซึ่งมีหน้าที่ในการวางแผนด้านการเตรียมความพร้อม การประเมินความเสียหาย เพื่อการช่วยเหลือและแผนฟื้นฟูเยียวยา การจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉิน การแจกจ่ายสิ่งของ การรับบริจาค เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงจัดฝึกอบรมการบัญชาการเหตุการณ์ และการฝึกซ้อมแผนในแต่ละระดับและชุมชน และประสานงานการขับเคลื่อนมาตรการลดความเสี่ยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นที่ประชุมได้นำเสนอกรอบแนวทาง มาตรการ และแผนการดำเนินงานด้านมาตรการลดความเสี่ยงการเตรียมความพร้อม และฟื้นฟูเยียวยา โดยมาตรการลดความเสี่ยงในปี 2567 กำหนดการดำเนินการเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

รศ.ทวิดา กมลเวชช
รศ.ทวิดา กมลเวชช

1. การประเมินความเสี่ยงชุมชน เมื่อดูจากสถิติการวิเคราะห์ชุมชนเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงภัย ในปี 2567 มีแผนฝึกซ้อมชุมชนและอาสาสมัคร เป้าหมาย 340 ชุมชน

2. การตรวจสอบความปลอดภัยอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ ปี 2567 กำหนดเป้าหมายการตรวจสอบอาคารโรงแรม ที่พัก จำนวน 100 แห่ง

ทั้งนี้ กทม. มีชุมชนที่รถดับเพลิงเข้าไม่ถึง จำนวน 256 ชุมชน โดยในปี 67 อยู่ระหว่างดำเนินการฝึกอบรมชุมชนอีก 46 แห่ง ทั้งนี้รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กำชับให้มีการตรวจสอบจำนวนชุมชนที่ต้องได้รับการฝึกซ้อมอีกครั้งหนึ่งเพื่อความครอบคลุม

สำหรับมาตรการการเตรียมความพร้อม มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุและการฝึกซ้อมเผชิญเหตุชุมชน การฝึกอบรมบัญชาการเหตุการณ์ และการจัดสรรทรัพยากรระงับเหตุอัคคีภัยให้ชุมชนโดยการจัดหาเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว ชนิดผงเคมีแห้งให้กับสำนักงานเขตจำนวน 27,611 ถัง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า

กทม 1 1

ด้านแผนการฟื้นฟู เยียวยา ในการจัดหาเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในการช่วยเหลือซึ่งเป็นไปตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุก คือ มีการจัดทำระบบคลังสิ่งของช่วยเหลือ inventory list ปฏิบัติการช่วยเหลือถุงยังชีพเบื้องต้นภายใน 12 ชั่วโมง ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประสบภัย โดยในปี 2667 ได้จัดทำคลังสิ่งของสำหรับใช้ในศูนย์พักพิง จำนวน 24 รายการ เพื่อใช้ในการจัดสรรทรัพยากรให้ชุมชน

ในส่วนการสื่อสารด้านการเตือนภัยประชาชนกรณีเกิดเหตุสาธารณภัย มีขั้นตอนการสื่อสาร ได้แก่ การรับแจ้งเหตุ การปฏิบัติ และการช่วยเหลือเยียวยา กรณีรับแจ้งเหตุประชาชนหรืออาสาสมัครสามารถแจ้งได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ Traffy fondue โทร 155 โทร 199 พระราม และติดต่อสถานีดังเพลิงฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo