ประชุมนัดแรก อนุกรรมการมลพิษทางอากาศ ดัน 11 มาตรการเร่งด่วน แก้ไขปัญหา “PM2.5” เพิ่มเงื่อนไข นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไม่เผาป่า
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเร่งด่วนตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567
11 มาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5
ทั้งการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม การควบคุมฝุ่นละอองในเมือง การสนับสนุนและการลงทุน รวม 11 มาตรการ คือ
- การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่
- การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
- การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM 2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ
- การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
- การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า – ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
- การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
- การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5
- การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า
- การลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด
- การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
รายงานผลการดำเนินทุกเดือน
โดยทั้ง 11 มาตรการ จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ พร้อมรายงานความก้าวหน้าต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศทราบทุกเดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เห็นชอบระบบรายงานข้อมูลและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง แหล่งกำเนิด พื้นที่วิกฤต และการรายงานผลการดำเนินงาน และพิจารณางบประมาณเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
โดยขอให้เร่งรัดการจัดส่งรายละเอียดโครงการไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาตามระเบียบการบริหารงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 พร้อมรับทราบการจัดทำงบประมาณบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ 2568
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘PM 2.5’ ทั่วไทย 4 จังหวัดยังเจอฝุ่น ในพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพ
- เช็กด่วน! กทม. เตือนคนกรุง ระวัง ‘PM 2.5’ พรุ่งนี้ 9 พื้นที่มีฝุ่นพิษ
- ‘อนุทิน’ สั่งทุกจังหวัด รับมือ ‘PM 2.5’ บังคับใช้กม.คุมแหล่งกำเนิด เตรียมแผนเผชิญเหตุ คน เครื่องมือพร้อม