กทม.ยัน ไม่ยกเลิก แท็กซี่คนพิการ-ผู้สูงอายุ เร่งปรับโมเดลใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารให้ยั่งยืน ให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้น
นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงเรื่องรถรับส่งคนพิการ-ผู้สูงอายุ ว่า กรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าไม่ยกเลิกการให้บริการรถรับส่งคนพิการ-ผู้สูงอายุ เพราะเป็นสวัสดิการ แต่จะมีการปรับโมเดล เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อให้สามารถรับคนพิการ-ผู้สูงอายุได้มากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ จะปรับการบริหารให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะมีกลุ่มคนพิการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามารับช่วงจากเคที (กรุงเทพธนาคม) เพื่อให้สามารถหารายได้ในทางอื่นได้ และเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการให้บริการรถรับส่งคนพิการ-ผู้สูงอายุยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ในแต่ละเดือนมีผู้ขอใช้บริการประมาณกว่า 500 คน แต่สามารถให้บริการได้เพียงประมาณกว่า 200 คน เนื่องจากแต่ละวัน รถ 1 คัน จะต้องรอรับส่ง 1 คน จึงทำให้ให้บริการได้ไม่มากและไม่ครอบคลุม
ดังนั้น การปรับโมเดล จะยังไม่มีการเพิ่มจำนวนรถของกทม. แต่เป็นการปรับกระบวนการหรือวิธีการให้มีประสิทธิภาพ พร้อมหาแนวทางสนับสนุนเงินอุดหนุนบางส่วนให้แก่พันธมิตร/แนวร่วม โดยจะมีการปรับดังนี้
1. ความถี่ในการรับ ให้รถ 1 คัน มีประสิทธิภาพในการรับมากขึ้น โดยจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการสื่อสาร
2. ปรับฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลที่มีจะปนกันอยู่ระหว่างข้อมูลคนพิการและผู้สูงอายุ
3. หารือกับผู้ให้บริการรถสาธารณะ (เช่น แท็กซี่) ให้สามารถรับผู้สูงอายุที่พอช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อเป็นการขยายสเกลการให้บริการให้ครอบคลุมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ
ล่าสุด กทม.อยู่ระหว่างตรวจสอบฐานข้อมูลที่มีทั้งหมดเพื่อให้ได้จำนวนคนพิการที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ซึ่งต้องขอความร่วมมือคนพิการหรือญาติของคนพิการ สมัครไลน์ @bangkokforall หรือ กรุงเทพเพื่อทุกคน เพื่อให้มีข้อมูลในระบบ และคนพิการเองก็จะสามารถติดตามรับสิทธิสวัสดิการของตนเองได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เริ่มวันนี้ ยื่นขอรับเงินค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนน
- กทม. เปิดสวนสาธารณะ 34 แห่ง ชวนลอยกระทงธรรมชาติ 1 ครอบครัว 1 กระทง
- รับมือ ‘PM2.5’ กทม. เตรียมหารือขนส่งฯ ห้ามรถเก่าเข้าพื้นที่ พร้อมชี้เป้าจุดเสี่ยง ตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นแบบเรียลไทม์