General

ชวน อสม.ร่วมใช้แอปฯ ‘พ้นภัย’ ร่วมแจ้งตำแหน่งพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบาง

กรม สบส.ชวน อสม.ร่วมใช้แอปฯ พ้นภัย ยกประสิทธิภาพการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ภัยธรรมชาติ เป็นภัยที่มักจะเกิดอย่างฉับพลัน โดยภัยธรรมชาตินั้นมีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งประเทศไทยก็มักจะพบกับภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน

แอปฯ พ้นภัย

ทั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง (กลุ่ม 608) เด็กเล็ก ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ ฯลฯ ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าประชาชนในกลุ่มอื่น ๆ

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกลุ่มเปราะบางอย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน

กรม สบส.ซึ่งเป็นผู้ให้การดูแล กำกับ การปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีกว่า 1 ล้านคน ทั่วประเทศ จึงประสานกับประธาน อสม.ทั่วประเทศ ให้ดำเนินการแจ้งประสานกับพี่น้อง อสม. ในพื้นที่ร่วมแจ้งตำแหน่งพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางผ่านแอปฯ พ้นภัย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์

ทั้งนี้ อสม.สามารถรับรหัสเข้าใช้งานแอปฯ พ้นภัย จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ เพื่อในกรณีเกิดเหตุภัยธรรมชาติ อสม.จะสามารถยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านแอปฯ ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางในการรับแจ้งเหตุ ในการขอความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบเทคโนโลยีการระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม ทราบถึงพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางในทุกพื้นที่

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะตรวจสอบเรื่อง และให้การช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสมของแต่ละภัยพิบัติ แต่หากเกินศักยภาพที่จะให้การช่วยเหลือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการประสานหน่วยงานระดับอำเภอเข้าช่วยเหลือให้ทันต่อสถานการณ์ต่อไป

พ้นภัย

นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ แนวทางเข้าช่วยเหลือดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยของ อสม. นั้นจะมีการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. การเตรียมตัวระยะก่อนเกิดภัยพิบัติ การวางแผนเตรียมการรับสถานการณ์ การวิเคราะห์กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ฐานข้อมูลสุขภาพของครัวเรือน การแจ้งเตือนประชาชน การแจ้งเตือนข่าว แผนการเยี่ยมบ้าน การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล

2. ระยะเกิดภัยพิบัติ การดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยเบื้องต้น การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม และการสร้างขวัญและกำลังใจ

3. ระยะฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เยียวยาจิตใจเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย การฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำและอาหาร เพื่อป้องกันโรคระบาด

การที่ อสม. แจ้งตำแหน่งพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางผ่านแอปพลิเคชัน พ้นภัย จะช่วยให้การดำนินการในการเตรียมตัวระยะก่อนเกิดภัยพิบัติของ อสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo