General

มหาดไทย ประกาศ 4 มาตรการ คุมเข้มแบลงค์กัน ทั่วประเทศ

กระทรวงมหาดไทยประกาศ 4 มาตรการ พร้อมออกแบบจดแจ้งและรายงานผู้ครอบครองสิ่งเทียมอาวุธ คุมเข้มแบลงค์กัน กำชับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศดำเนินการเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยประชาชน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการควบคุมการใช้แบลงค์กัน (สิ่งเทียมอาวุธปืน)

คุมเข้มแบลงค์กัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปผลเป็น มาตรการในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน รวม 4 มาตรการ พร้อมกำหนดแบบจดแจ้งสิ่งเทียมอาวุธ (แบบ สท.1) และ แบบตอบรับการรายงานผู้ครอบครองสิ่งเทียมอาวุธ(แบบ สท.2) โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกเป็นประกาศไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน

งัด 4 มาตรการคุมเข้มแบลงค์กัน

1. ให้นายทะเบียนท้องที่งดการออกใบอนุญาตให้ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนชนิดแบลงค์กัน หรือสิ่งเทียมอาวุธอื่นที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้โดยง่าย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายของกระทรวงมหาดไทย

พร้อมทั้งให้นายทะเบียนท้องที่ทราบแนวทางที่จะไม่มีนโยบายให้เพิ่มเติมผู้ได้รับใบอนุญาต สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนรายใหม่ทุกท้องที่ทั่วประเทศ

สำหรับกรณีร้านค้าอาวุธปืนให้นายทะเบียนท้องที่งดการออกใบอนุญาตให้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุน (แบบ ป.2) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

1 3

2. สั่งการให้นายทะเบียนท้องที่อำเภอ ดำเนินการขอความร่วมมือไปยังบุคคลผู้ครอบครองแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนผู้สุจริตทุกราย ซึ่งมิได้ดำเนินการดัดแปลงแก้ไขสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนแต่อย่างใด ให้นำแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธที่ครอบครองดังกล่าวมาแสดงทำบันทึกต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตอนมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาสุจริต และขอให้ดำเนินการโดยไม่เพิ่มภาระเกินสมควรกับบุคคลเหล่านั้น

3. การขอมีและใช้ซึ่งอาวุธปืนและการขอซื้อ สั่ง หรือนำเข้าซึ่งเครื่องกระสุนปืนของสมาคมกีฬายิงปืน ให้นายทะเบียนท้องที่พิจารณาออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) และใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) แก่สมาคมกีฬายิงปืนที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 แล้วเท่านั้น

ประกอบกับผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

อีกทั้งเครื่องกระสุนปืนที่จะอนุญาตให้สมาคมกีฬายิงปืนซื้อ สั่ง หรือนำเข้าได้นั้น เครื่องกระสุนปืนจะต้องเป็นชนิดและขนาดที่สอดคล้องกับอาวุธปืนที่ปรากฎตามใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ของสมาคมกีฬายิงปืน มีความสอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนเครื่องกระสุนปืนที่จะอนุญาตให้สมาคมกีฬายิงปืนซื้อ สั่งหรือนำเข้าได้นั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงตามสภาพความต้องการของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนศักยภาพพื้นที่ในการจัดเก็บอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน

2 4

ในกรณีที่นายทะเบียนท้องที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้า เครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) ชนิดเครื่องกระสุนปืนสั้นจะต้องถือปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 108/2535 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เรื่อง จำกัดการออกใบอนุญาตให้บุคคลสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนบางชนิด คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 674/2490 วันที่ 10 ต.ค. 2490 เรื่องระเบียบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ประกอบคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 759/2498 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2494 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง 674/2490 เรื่องระเบียบ การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ด้วย

4. การออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด (ในเขตจังหวัด) ให้งดการออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo