General

ศธ. ถอดบทเรียน เยาวชนก่อเหตุความรุนแรงกลางพารากอน ชู ‘เรียนดี มีความสุข’ ป้องกันซ้ำรอย

โฆษก ศธ. ถอดบทเรียนกรณีเยาวชนใช้อาวุธก่อเหตุความรุนแรงกลางพารากอน นำหลักนโยบาย เรียนดี มีความสุข ป้องกันเหตุในอนาคต

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงกรณีเยาวชนใช้อาวุธก่อเหตุรุนแรงในห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านใจกลางเมือง

พารากอน

 

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต​ และผู้ได้รับบาดเจ็บ​ พร้อมแสดงความห่วงใยกับกรณีที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ทราบเหตุ ได้มอบหมายให้ติดตามสถานการณ์​ และได้รับรายงานว่าโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนการศึกษาทางเลือกตามอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหลักสูตรการเรียนการสอนเน้นสาระวิชาและรูปแบบทางเลือก มีนักเรียน 800 คน ครู 115 คน ถือเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีสัดส่วนครูกับนักเรียนที่ดี

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ศธ.จะร่วมถอดบทเรียน โดยเฉพาะตัวหลักสูตรแกนกลางที่ใช้ในการกำกับดูแลโรงเรียนทางเลือกให้ครอบคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้มีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่เน้นหลักสูตรสร้างทักษะให้เด็ก โดยได้รับการแนะนำจาก ครูแนะแนว และ ครูอันเป็นที่รักของเด็กในโรงเรียน​ ให้ค้นพบเป้าหมายของชีวิตหรือประกอบอาชีพระหว่างเรียนได้

ตอนนี้สิ่งที่มีความจำเป็นมากคือ โรงเรียนจะต้องมีคนที่รู้สภาพเด็ก ซึ่ง​ที่ผ่านมา ศธ.ได้ทำ MOU กับกรมสุขภาพจิต เพื่อสร้างการรับรู้กับบุคลากรทางการศึกษา ให้รู้วิธีติดต่อสื่อสารสังเกตอาการเด็ก คอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตร่วมกันของผู้ปกครองและเด็กอย่างมีความสุข

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ1

ในเบื้องต้นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 พบว่า เด็กอาจมีสภาวะปัญหาด้านจิตใจ แต่ยังไม่สามารถตัดสินได้ อีกทั้งได้มีการสอบถามเหตุจูงใจจากผู้ปกครองแล้ว แต่ยังไม่พร้อมให้ข้อมูล

ส่วนประเด็นในสื่อออนไลน์ที่ว่า เยาวชนติดเกมหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่อยากด่วนสรุปว่าเป็นเพราะปัจจัยใดที่ทำให้มีการก่อเหตุเกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสให้สังคมได้มองย้อนกลับมาดูเรื่องของระบบการศึกษาว่ามีปัญหาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คิดว่าจะกระตุกสังคมในวันนี้​ คือ​ ปัญหานี้มีโอกาสเกิดได้ทุกระบบการศึกษา และควรมีมาตรการดูแลในสถานการณ์แบบนี้ให้ดีที่สุด เพื่อหาทางป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคตในทุกระบบการศึกษา

ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กอยู่ในสภาวะกดดัน ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพราะบุคลากรทางการศึกษาอยู่บนความมุ่งหวังจากสังคมภายนอกมากมาย จากนี้ต้องถอดบทเรียนสำหรับหน่วยงานในสังกัดที่สามารถดำเนินการได้ หาข้อตกลงร่วมกันที่จะรับได้ทั้งสองฝ่าย เพื่อให้มีแนวทางที่เหมาะสมในการดูแล​

ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาแต่เป็นผู้ปกครองหรือสังคมที่ต้องแนะนำเยาวชนให้ใช้สื่อออนไลน์ หรือเนื้อหา (Content) ตามช่วงอายุที่กำหนดให้เหมาะสมกับผู้ใช้

วันนี้ยังไม่ด่วนสรุปและโทษว่าเป็นความผิดของสิ่งใด ที่สำคัญคือต้องหาเหตุจูงใจเพื่อถอดบทเรียนให้ได้ นำมาสู่การป้องกันแก้ไขปัญหาในภายภาคหน้าต่อไป

ที่สำคัญคือ การผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ให้ครอบคลุมทันการเปลี่ยนแปลง มีข้อกฎหมายที่เหมาะสมในการพัฒนาการศึกษา ก็ควรจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo