กรมการแพทย์ ออกไกด์ไลน์รักษา “ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่” ยาหลักใช้โอเซลทามิเวียร์ ยารองใช้ฟาวิพิราเวียร์
กรมการแพทย์ ออกคำแนะนำการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 มีรายละเอียด ดังนี้
การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แบ่งออกเป็น การรักษาแบบประคับประคองและการรักษาเฉพาะโดยให้ยาต้านไวรัส โดยให้ยาต้านไวรัสอันดับแรก คือ โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir)
ส่วนยาอันดับรอง คือ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ใช้ในกรณที่ไม่สามารถใช้ยาอันดับแรกได้ เฉพาะในกรณีที่เป็นไข้หวัดใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่านั้น
ทั้งนี้ การให้ยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาไข้หวัดใหญ่ ควรเริ่มยาให้เร็วภายใน 48 ชั่วโมงแรก เพื่อผลการรักษาดีที่สุด
กรณีผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือเสี่ยงสูง แม้จะเลย 48 ชั่วโมงไปแล้ว ก็ยังมีประโยชน์เมื่อได้รับยา โดยให้ยาต้านไวรัสเฉพาะผู้ป่วยดังต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องนอนโรงพยายาล หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
2. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง
3. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาจจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส หากมีอาการมาไม่เกิน 48 ชั่งโมง (ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ยาต้านไวรัสทำให้อาการหายเร็วขึ้น)
อย่างไรก็ตาม การใช้ยา Oseltamivir ขนาดสูง 2 เท่าของปกติ พบว่าไม่มีประสิทธิผลดีไปกว่าขนาดปกติที่แนะนำ ส่วนการใช้ยาระยะนานกว่า 5 วัน ให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล แต่ไม่แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกัน สำหรับผู้สัมผัสโรค แนะนำให้สังเกตอาการและรีบเริ่มยาเร็วที่สุดเมื่อมีอาการ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ฝรั่งเศส’ เริ่มฉีดวัคซีนเป็ด ป้องกันติดเชื้อไวรัส ‘ไข้หวัดนก’
- ไข้หวัดใหญ่ระบาดขาขึ้น ‘ดร.อนันต์’ ชี้สายพันธุ์ H3N2 วัคซีนป้องกันได้น้อย
- บอร์ด สปสช. เคาะงบบัตรทองปี 67 กว่า 2.21 แสนล้าน หนุน ’30 บาทพลัส’