General

‘กรมราชทัณฑ์’ ร่อนเอกสารชี้แจง! เปิดเผยข้อมูล ‘ผู้ต้องขังป่วย’ ไม่ได้!!

“กรมราชทัณฑ์” ร่อนเอกสารชี้แจง! เปิดเผยข้อมูล “ผู้ต้องขังป่วย” ไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการยินยอม ระบุเป็นไปตามหลักกฎหมาย

กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจง เรื่องการเปิดเผยข้อมูลผู้ต้องขังว่า กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้เป็นไปโดยเสมอภาคกันตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง การสัมภาษณ์ การเปิดเผยใบหน้า โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์การรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังรายใดก็ตามทั้งที่เป็นประชาชนคนธรรมดา ดารานักแสดง นักการเมือง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม ฯลฯ

ราชทัณฑ์

ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถเปิดเผยได้หากผู้ต้องขังไม่ยินยอมและกรณีที่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ต้องมีการลงนามในแบบฟอร์มเพื่อยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้น (InformedConsent) โดยยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

1. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

2. ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560]

ราชทัณฑ์

3. ข้อบังคับแพทยสภา

ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังยึดมั่นในหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติมีการวางมาตรฐานข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules)

ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยรายละเอียดของผู้ต้องขังในฐานะผู้ป่วยตามข้อกำหนดที่ 26,32 ที่กำหนดว่า ข้อมูลด้านเวชระเบียนผู้ต้องขังทุกคนต้องเก็บเป็นความลับ ผู้ต้องขังมีสถานะเป็นผู้ป่วยตามปกติเมื่อเข้าพบแพทย์ ผู้ป่วยต้องให้ความยินยอมบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง (Informed consent) สำหรับการตรวจหรือรักษาทางการแพทย์ ประวัติการรักษาของผู้ต้องขังต้องถูกเก็บเป็นความลับ การไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขังนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ในห้วงระยะเวลาปีงบประมาณพ.ศ.2566 กรมราชทัณฑ์มีสถิติผู้ต้องขังที่ต้องดูแลทั่วประเทศกว่า 276,686 คนโดยมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยอยู่ทั่วประเทศทั้งที่เจ็บป่วยทั่วไปสามารถดูแลได้ภายในสถานพยาบาลเรือนจำหรือกรณีส่งต่อออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกส่งรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกราว 30,000 คนโดยออกรักษามากกว่า 75,000 ครั้งและมีผู้ป่วยกรณีที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลภายนอกเกินกว่าสามสิบวันประมาณ 140 คน

ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอหรือแพทย์พยาบาลและเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นข้อจำกัดโดยเป้าหมายคือการรักษาชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนให้ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดโดยจะเห็นได้ว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องจึงขอเรียนย้ำว่าการดูแลผู้ต้องขังให้มีสุขภาพดีเป็นมาตรฐานสากลแม้เป็นผู้กระทำความผิดก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนให้ครบถ้วน

ราชทัณฑ์ ราชทัณฑ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK