General

สปสช. จับมือ TCELS หนุนใช้ ’นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือไทย’ ในระบบ ‘สิทธิบัตรทอง’

สปสช. จับมือ TCELS หนุนใช้ “นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือไทย” ในระบบ “สิทธิบัตรทอง” พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) ได้ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนา เรื่อง การขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนาม พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันแถลงข่าวที่มาของการลงนามในครั้งนี้ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงฯ ความร่วมมือร่วมกัน

นวัตกรรมการแพทย์

ร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมการแพทย์ สิทธิบัตรทอง

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เกิดขึ้นจาก TCELS เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์และสุขภาพไปสู่เชิงพาณิชย์และสังคม

โดยเชื่อว่าการร่วมมือกับ สปสช. จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์ของไทยไปสู่ระบบสุขภาพ เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมการแพทย์

“ความร่วมมือนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมในการนำผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์อย่างมีมาตรฐาน รวมทั้งทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และรุกตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน” ประธานกรรมการ TCELS กล่าว

นวัตกรรมการแพทย์

ประหยัดงบลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและทั่วถึงในการดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิ์  จำเป็นต้องนำนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่วิจัยและผลิตขึ้นเองในประเทศ มาให้บริการในระบบฯ ให้ได้มากที่สุด

เพราะไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการ และสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง รวมไปถึงร่วมผลักดันการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพใหม่ๆ ในประเทศ

นวัตกรรมการแพทย์

ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการบรรจุสิทธิประโยชน์ผลิตภัณฑ์ในรายการบัญชีนวัตกรรมแล้ว อาทิ รากฟันเทียม ถุงทวารเทียม เป็นต้น และได้ให้บริการกับผู้มีสิทธิบัตรทองแล้ว

“หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบประกันสุขภาพที่ดูแลประชาชนทั่วประเทศกว่า 48 ล้านคน กรณีที่มีการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งมีคุณภาพและมาตรฐาน สปสช. ยินดีที่จะร่วมส่งเสริมและให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่เป็นของคนไทย นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับประเทศไทยในที่สุด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

9 spsch. slch. lngnamkhwamrwmmuuex

หนุนนวัตกรรมไทยผลิตเชิงพาณิชย์

ดร.จิตติ์พร กล่าวว่า การสนับสนุนนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพภายใต้ความร่วมมือนี้ TCELS และ สปสช. จะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพของไทย เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ big data เพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงระบบฯ การขยายแพลตฟอร์มที่ให้บริการดูแลสุขภาพเบื้องต้นผ่านร้านยาและคลินิกพยาบาล รวมถึงการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบบริการสุขภาพร่วมด้วย

TCELS เราเห็นความสำคัญกับการให้ความสำคัญสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นในประเทศ โดยความร่วมมือกับ สปสช. ในครั้งนี้จะเน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพของไทย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการสุขภาพสำหรับประชาชน รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ big data เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข

เพื่อทั้งขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงนวัตกรรมด้านการแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo