General

กรมอนามัย เผยผลวิจัย ‘ขยับร่างกาย’ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดเจ็บป่วย ‘โรคหัวใจ-สมอง’ มากถึง 38%

กรมอนามัย เผยผลวิจัย “ขยับร่างกาย” 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดการเจ็บป่วย “โรคหัวใจ-สมอง” มากถึง 38%

นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลผลการศึกษาแบบติดตามระยะยาว (Retrospective cohort study) ในสหราชอาณาจักร ของวารสารวิชาการ JAMA ประจำเดือน กรกฎาคม 2566 ที่ศึกษาติดตามการมีกิจกรรมทางกายด้วยการติดอุปกรณ์วัด (accelerometer) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในกลุ่มประชากรอายุเฉลี่ย 62 ปี จำนวน 89,573 คน และติดตามผลลัพธ์ทางสุขภาพ เฉลี่ย 6 ปี พบว่า

ขยับร่างกาย

ขยับร่างกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดป่วยโรคหัวใจ-สมอง 38%

การมีกิจกรรมทางกายเพียงพออย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ สามารถช่วยลดการเจ็บป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว และหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ประมาณ 22-38% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 150 นาที ต่อสัปดาห์

ขยับร่างกาย
นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอด้วยกัน ระหว่างกลุ่มแรกที่มีกิจกรรมทางกายในสัดส่วนที่มากในช่วงวันหยุด หรือ “นักรบวันหยุด (weekend warrior)” กับกลุ่มหลังที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอในสัดส่วนที่มากในช่วงวันธรรมดา หรือ “ขยับวันธรรมดา (active regular)” พบว่า กลุ่มแรก  จะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และหลอดเลือดสมอง (Stroke) น้อยกว่าเล็กน้อย อยู่ที่ 2-5% ส่วนกลุ่มหลังจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดน้อยกว่า หรือ 8%

ขยับร่างกาย
นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร

กิจกรรมทางกายในวันหยุดหรือวันธรรมดา ล้วนส่งผลดีต่อร่างกาย

ด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และลักษณะการทำงานของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ออกแรงน้อยลง (office-based) และอาจมีภาระงานในวันธรรมดามากจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย อาจใช้วิธีออกกำลังกายในวันหยุดชดเชยแทน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีกิจกรรมทางกายในวันหยุดหรือวันธรรมดา ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น นอกจากนี้ ควรลดการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งหรือนอนราบ) เป็นระยะเวลานานๆ ในแต่ละวัน ที่ส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจและสมอง และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย

ขยับร่างกาย

กรมอนามัยขอแนะนำกิจกรรมทางกายระหว่างวัน โดยลุกยืนจากการนั่งทำงานบ่อยๆ เช่น ทุก 60 นาที หรือปรับโต๊ะให้สามารถยืนทำงานได้ ด้วยการตั้งจอคอมพิวเตอร์บนหนังสือหรือลังกระดาษ ทั้งนี้ ให้ยึดจากองค์การอนามัยโลก คือ “ทุกการขยับนับหมด (every move counts)” เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo