“กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง” เปิดผลตรวจสอบ ปรากฎการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” ทำน้ำทะเล “เกาะล้าน” กลายเป็นสีเขียวถึง 5 จุด ระบุสาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ย้ำไม่เป็นอันตรายต่อคน-สัตว์น้ำ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณหาดตาแหวน เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี
เจ้าหน้าที่ได้สำรวจจุดแจ้งเหตุและบริเวณใกล้เคียง พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี 5 บริเวณ ได้แก่ ทางเดินเรือระหว่างเกาะล้าน-พัทยาใต้ หาดหน้าบ้าน หาดตาแหวน และหาดเทียนในพื้นที่เกาะล้าน และเกาะสาก
เบื้องต้นพบว่าน้ำทะเลมีสีเขียว มีกลิ่นเหม็น จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นมีค่าอุณหภูมิ 30.1-31.2 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30.9-31.8 ส่วนในพันส่วน ความเป็นกรดและด่าง 8.16-8.31 และออกซิเจนละลาย 4.20-7.69 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ ทั้งนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ
จากการจำแนกชนิด ทราบว่าเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้ไม่สร้างสารพิษ โดยศูนย์วิจัยจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
ขณะที่ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีนี้เรียกว่า “แพลงก์ตอนบลูม” หรือ “ขี้ปลาวาฬ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยใน 1 ปี จะเกิดขึ้น 2-3 วัน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเล
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์มาจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล มักเกิดในช่วงฤดูฝน หากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง และมีคลื่นลมแรงเป็นเวลาหลายวัน จะไปชะล้างธาตุอาหารที่อยู่ในพื้นดินบริเวณชายฝั่งลงสู่ท้องทะเล จนทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหาร และเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
เมื่อออกซิเจนในน้ำทะเลหมดลง แพลงก์ตอนจะตายจนทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีต่าง ๆ เช่น น้ำตาล สีแดง สีเขียว หรือสีดำขุ่น ดังนั้นจึงกำชับเจ้าหน้าที่ ศวทอ. ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังขอเตือนประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวประมงว่า อย่าปล่อย หรือทิ้งของเสียลงแม่น้ำ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์
หากใครพบเห็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี พบสัตว์ทะเลเกยตื้น และการทำประมงผิดกฎหมาย สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เร่งเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- อย่าตระหนก! กรมวิทย์ฯ ยืนยันกินได้ ‘ปลา-สัตว์น้ำ-อาหารทะเล’ หลังโซเชียลแชร์ พบปนเปื้อนปรอทใน 8 จังหวัด
- น้ำทะเลเปลี่ยนสี ออกซิเจนต่ำ เกิดจากอะไร ‘ดร.ธรณ์’ มีคำตอบ
- ปลาตายเกลื่อน!! หาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร ‘ดร.ธรณ์’ เผยเกิดจาก ‘น้ำแดง’ เตือนใจภัยพิบัติชัดขึ้นเรื่อย ๆ