General

กทม. ปูพรมสำรวจ ‘ถังดับเพลิง’ ทั้ง 50 เขต เก็บถังเสื่อมสภาพ พร้อมติดตั้งถังใหม่

รองผู้ว่าฯ กทม. สั่งปูพรมสำรวจ “ถังดับเพลิง” ทั้ง 50 เขต เก็บถังเสื่อมสภาพ ติดตั้งถังใหม่ พร้อมนำเข้าระบบออนไลน์เก็บข้อมูล

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการที่ลงพื้นที่ ตรวจความเรียบร้อยการจัดเก็บถังดับเพลิงที่เสื่อมสภาพ ในชุมชนจักรพรรดิพงษ์ และชุมชนวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อคลายความกังวลของประชาชน และเพื่อความปลอดภัย

โดยเจ้าหน้าที่ที่สำรวจและจัดเก็บจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบว่าถังที่มีอยู่สามารถใช้ได้หรือไม่ หากใช้ได้ก็จะตั้งไว้จุดเดิม ถึงแม้ถัง ดับเพลิงในชุมชนจะเป็นชนิดผงเคมีแห้ง แต่ก็มีโอกาสรั่วได้เช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร จะต้องปูพรมเพื่อตรวจสอบและจัดเก็บถังที่ใช้การไม่ได้ออกจากพื้นที่ พร้อมกับทำหน้าที่เฝ้าระวังเพลิงด้วย

ถังดับเพลิง

พบถังเสื่อมสภาพแจ้งผ่าน Traffy Fondue

สำหรับประชาชนทั่วไปหากสังเกตพบว่าถังเป็นสนิมหรือบวม สามารถแจ้งมายังกรุงเทพมหานคร โดยโทร.199 แจ้งผ่านสำนักงานเขต หรือแจ้งผ่านระบบTraffy Fondue ได้ ตามหลัก 5 หลังคาเรือนจะต้องมี 1 ถัง แต่หากแต่ละหลังคาเรือนมีจำนวนคนมาก มีกิจกรรมที่ต้องเฝ้าระวังมาก หรือมีความเสี่ยงมาก ก็อาจต้องเพิ่มจำนวนถังให้เหมาะสม

ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานคร (BKK Risk Map) สำรวจความเสี่ยงของชุมชน สำรวจผู้ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก โดยให้ทุกเขตลงพื้นที่สำรวจความปลอดภัย จุดติดตั้งสัญญาณเตือนไฟไหม้ เส้นทางเคลื่อนย้าย พร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุทุกชุมชนให้ตรงกับสภาพของแต่ละพื้นที่

ถังดับเพลิง

สำหรับความแตกต่างของถังดับเพลิงแต่ละประเภท ถังสีแดง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ถังบรรจุผงเคมีแห้ง และถังบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยถังผงเคมีแห้งจะมีแรงดันที่ 195 PSI. มีเกจวัดแรงดัน สายฉีดมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น ส่วนถัง CO2 จะมีแรงดันที่ประมาณ 800 – 1,200 PSI. ไม่มีเกจวัดแรงดัน เนื่องจากเป็นถังที่มีแรงดันสูง ปลายกระบอกฉีดจะมีลักษณะเป็นกรวย

ส่วนถังสีเขียว ภายในจะบรรจุน้ำยาเหลวระเหยหรือสารอื่นที่อยู่ในสถานะของเหลว มีเกจวัดแรงดัน และถังดับเพลิงสเตนเลส ภายในจะบรรจุโฟมหรือน้ำ ซึ่งถัง ดับเพลิงประเภทนี้จะไม่มีอยู่ในชุมชน ส่วนถังที่อยู่ในชุมชนปัจจุบันจะมีถังผงเคมีแห้ง (สีแดง) และถังน้ำยาเหลวระเหย (สีเขียว)

ถังดับเพลิง

วิธีการตรวจสอบและดูแลถังดับเพลิงเบื้องต้น

  1. สลักยังอยู่
  2. เกจวัดแรงดันอยู่ตรงกลาง ในช่องสีเขียว ไม่ตกไปทางซ้ายหรือขวา
  3. รูปทรงถังอยู่ในสภาพปกติ ไม่บวม (ถังที่บวมจะบวมที่ด้านล่าง) ไม่แตกร้าว ไม่เป็นสนิม สายสมบูรณ์ ไม่เปื่อยหรือฉีกขาด
  4. ค่อย ๆ ยกถังคว่ำแล้วฟังเสียง ถ้าสารเคมีภายในถังยังใช้ได้ จะได้ยินเสียงคล้ายทรายไหลภายในถัง ในกรณีบางถังถูกตั้งไว้นาน จะเกิดการเกาะของสารเคมี วิธีป้องกันจึงต้องหมั่นยกคว่ำ
  5. ควรเก็บถังให้ห่างจากความร้อน แสงแดด น้ำ หรือความชื้น และไม่ควรตั้งวางถังบนพื้นเพราะจะทำให้เกิดสนิมได้ง่าย หากติดตั้งแบบแขวน ระยะความสูงจากพื้นถึงก้านบีบไม่ควรเกิน 1.5 เมตร

เมื่อจะใช้งานเพื่อดับเพลิง ให้ใช้มือข้างถนัดหิ้ว บิดสลักออก ยกหัวฉีดชี้ไปที่ฐานของไฟหรือต้นเพลิง (ทำมุมประมาณ 45 องศา) ผู้ฉีดควรอยู่เหนือลม ระยะห่างจากฐานของไฟควรอยู่ห่างประมาณ 2 – 4 เมตร เพราะสารเคมีอาจจะฟุ้งเข้าตาได้ บีบไกให้สารพุ่งออกมา ทั้งนี้ การใช้ถัง ดับเพลิงจะเป็นการระงับอัคคีภัยในเบื้องต้นก่อนนักดับเพลิงจะไปถึงที่เกิดเหตุ

ถังดับเพลิง

ปูพรมตรวจทั้ง 50 เขต จัดเก็บถังเสื่อมสภาพ พร้อมติดตั้งถังใหม่

กทม. จะปูพรมดำเนินการทั้ง 50 เขต โดยชุมชนใดที่มีการจัดเก็บถังที่เสื่อมสภาพไป และจะนำถังใหม่ไปติดตั้งให้โดยเร็ว ส่วนถังที่ยังใช้งานได้จะมีการตรวจสภาพปีเว้นปี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ

ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครเตรียมนำเข้าข้อมูลในระบบ BKK Risk Map มีการแบ่งสีพื้นที่เป็น แผนที่สีแดง ส้ม เหลือง เพื่อแสดงความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้นำเข้าข้อมูลประปาหัวแดงเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการนำเข้าข้อมูลในส่วนของถัง ดับเพลิงตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยจากนี้ ถังทุกถังจะมีการติด QR Code เพื่อแสดงข้อมูลประเภทของถัง วันเวลาที่ตรวจบำรุงรักษาล่าสุด ตำแหน่งในการติดตั้ง นอกจากนี้จะมีการระบุคุณสมบัติการดับเพลิงแต่ละถังด้วย ซึ่งหากประชาชนไม่มั่นใจในการใช้งานให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเพื่อขอความช่วยเหลือ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo