General

‘ดร.อนันต์’ เผยผลวิจัยสหรัฐ แนวคิดสร้างวัคซีนรูปแบบใหม่ ‘double hit’

“ดร.อนันต์” ส่องผลวิจัยวัคซีนรูปแบบใหม่จากทีมวิจัยสหรัฐ ทดลองใส่โปรตีนหนาม ไวรัส SARS-CoV-2 รวมกับอนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ชวนทำความรู้จักแนวคิดการพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ double hit โดยระบุว่า

วัคซีนรูปแบบใหม่

ทีมวิจัยในมหาวิทยาลัย North Carolina ในสหรัฐอเมริกาตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Science Advances เกี่ยวกับแนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพของอนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่เชื้อตายที่เราฉีดวัคซีนกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้วให้มากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากผิวอนุภาคไวรัสดังกล่าว เป็นชั้นไขมันที่มีโปรตีนของไวรัส ติดอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พื้นที่บนผิวอนุภาคยังมีที่เหลือ

ทีมวิจัยมีแนวคิดว่า ส่วนพื้นที่ว่างบนอนุภาคนั้น สามารถนำแอนติเจนตัวอื่นไปใส่เพิ่มได้ ในกระบวนการผลิตวัคซีน โดยการใส่โครงสร้างที่สามารถตรึงชั้นไขมันบนผิวอนุภาคไวรัสกับโปรตีนตัวอื่นที่เราสนใจ คล้ายกับปักเข็ม หรือ ใส่น็อตลงบนผิวอนุภาคเพื่อตรึงโปรตีนเพิ่มเข้าไป

วัคซีน1

ผลที่ได้คือ อนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีโปรตีนอื่นมาอยู่ด้วย เป็นวัคซีนในรูปแบบ double hit

ทีมวิจัยทดสอบ Concept นี้โดยการใส่โปรตีนหนามส่วน RBD ของไวรัส SARS-CoV-2 ไปรวมกับอนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่ และพิสูจน์ผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอน ตรวจพบการแสดงออกของ RBD บนอนุภาคตามคาด

เมื่อนำอนุุภาคไวรัสชนิดนี้ ไปทดสอบในหนูแฮมสเตอร์ ก็พบการกระตุ้นภูมิต่อ SARS-CoV-2 ได้ดีพอ ๆ กับการใช้ โปรตีน RBD เป็นวัคซีน และสูงมากเพียงพอต่อการป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากการถูก Challenge ด้วย SARS-CoV-2

วัคซีน 2

ทีมวิจัยไม่ได้ใส่ Influenza virus ไปดูด้วยว่า หนูจะรอดมั้ย เพราะ ไวรัสชนิดนี้ไม่ทำอะไรหนูแฮมสเตอร์ แต่ดูจากภูมิที่ขึ้นคงไม่มีปัญหาเช่นกัน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สร้างง่ายครับ และ การเติมอะไรลงบนอนุภาคไวรัสแบบในการศึกษานี้ก็ดูไม่ยาก และไม่ใช้เวลานาน

นอกจากนี้การเพิ่มโปรตีนบนอนุภาคอาจใส่ได้มากกว่า 1 ตัว สูตรการปรับวัคซีนในรูปแบบนี้จึงน่าสนใจ และอาจเป็นอีกทางเลือกนึงในอนาคต สำหรับวัคซีนในรูปแบบใหม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo