COVID-19

‘ดร.อนันต์’ ยกเคส โควิดติดเชื้อซ้ำเร็วมาก คาดไวรัส BA.2 ฝ่าด่านภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น

“ดร.อนันต์” เผยกรณีโควิดติดเชื้อซ้ำภายใน 16 วัน สะท้อนไวรัส BA.2 ฝ่าด่านภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อครั้งแรกได้เก่งขึ้น

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่องเคสโควิดติดเชื้อซ้ำ โดยระบุว่า

โควิดติดเชื้อซ้ำ

มีรายงานเคสโควิดติดเชื้อซ้ำตีพิมพ์ออกมา 1 เคส น่าสนใจมากครับ เหตุการณ์เกิดช่วงกลางปีที่แล้ว ผู้ป่วยเป็นชายชาวบราซิลอายุ 52 ปี สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว รับวัคซีนโควิดมาแล้ว 3 เข็ม

วันที่ 19 พฤษภาคม ชายคนนี้มีอาการน้อย ไข้อ่อน ๆ ปวดศีรษะนิดหน่อย มีน้ำมูก จาม เลยตัดสินใจ Work from home เก็บตัวอย่างไปวันที่ 23 พฤษภาคม และ วันต่อมายืนยันว่าติดโควิด ค่า Ct ที่ตรวจได้ไวรัสมีน้อย (37.7)

วันที่ 30 ติดโควิดหายป่วย และกลับมาทำงานเป็นปกติ ทำงานอยู่ได้ 6 วัน วันที่ 5 มิถุนายน เริ่มมีอาการป่วยอีกรอบ คราวนี้อาการหนักกว่าเดิมแถมมาครบ ไข้ ปวดเมื่อย ปวดหัวหนัก น้ำมูก ไอ และ เจ็บคอ มีอาการ 4 วันก็เอาแยกตัวอย่างออกมาไปตรวจ พบเป็นโควิด โดยค่า Ct ต่ำมากคือ 14.68

ซึ่งหมายความว่า รอบนี้ไวรัสเยอะกว่าครั้งแรกมาก หลังจากนั้นก็รักษาตัวจนหายป่วยมาเป็นปกติเหมือนเดิม

ดร.อนันต์ดร.อนันต์

ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างที่เก็บมา 2 รอบ มาถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสของการติดครั้งแรก และ ครั้งที่สอง พบว่า สายพันธุ์รอบแรกคือ BA.1.1 ส่วนสายพันธุ์รอบสองคือ BA.2 ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อซ้ำ ไม่ใช่เป็นการ rebound ของเชื้อจากการติดครั้งแรก

เคสนี้น่าสนใจเพราะ ผู้ป่วยเป็นคนสุขภาพแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนทำงานปกติสามารถถูกกระตุ้นจากการติดเชื้อ และเคลียร์ไวรัสจากร่างกายได้ปกติ (ภายใน 7-10 วัน)

ที่น่าสนใจคือ ช่วงเวลาในการติดครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีภูมิคุ้มกันที่สูงมาก โดยเฉพาะแอนติบอดีในทางเดินหายใจส่วนบน ที่น่าจะมากเพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง

ดรอนันต์
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา

แต่การที่เค้าติดซ้ำได้ไวมาก แสดงว่าไวรัส BA.2 ฝ่าด่านภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อครั้งแรกมาได้ไม่ยาก แถมอาการหนักกว่าเดิม แสดงว่า ไวรัสที่ได้มาอาจจะมีปริมาณมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรกด้วย

จากข้อมูลความแตกต่างทางพันธุกรรมของ BA.2 และ BA.1.1 มีความแตกต่างกันในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ BA.2 หนีภูมิของ BA.1.1 มาได้

การติดเชื้อซ้ำภายใน 16 วัน จึงถือว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำได้เร็วมาก ๆ แต่เคสนี้เกิดขึ้นไม่ได้บ่อย เป็นกรณีพิเศษที่น่าศึกษาต่อว่า มีปัจจัยอื่นใดมาเสริมการติดเชื้อซ้ำครั้งนี้ครับ

ส่วนตัวคิดว่าการติดครั้งที่ 2 อาจจะเกิดจากกิจกรรมที่ไปรับเชื้อปริมาณสูง จนทำให้แอนติบอดีที่จับไวรัสตัวนี้ไม่ค่อยดีอยู่แล้วเอาไม่อยู่ เลยผ่านมาติดได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo