General

เริ่มแล้ว!! ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร นำร่องถนนหลัก 4 สาย

กทม. เริ่มติดตั้งระบบ ATC ควบคุมสัญญาณไฟจราจร นำร่องบนถนนหลัก 4 สาย เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Area Traffic Control Project (BATCP)

ควบคุมสัญญาณไฟจราจร

การริเริ่มโครงการแก้ไขปัญหาการจราจร ด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  (BATCP) นำร่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการบริหารจัดการจราจร ด้วยระบบอัจฉริยะ เพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานคร อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สำหรับพื้นที่โครงการนำร่องของระบบ ATC นี้ จะครอบคลุมพื้นที่บนถนนหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่งและสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง โดยมีศูนย์ควบคุมกลางตั้งอยู่ที่สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร

ระบบ ATC ที่นำมาติดตั้งในพื้นที่โครงการนำร่องนี้ จะใช้เซนเซอร์เก็บข้อมูลสภาพจราจรในพื้นที่ ผ่านเครื่องตรวจจับยานพาหนะแบบ Ultrasonic และกล้อง CCTV ที่คอยตรวจจับสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์

ชัชชาติ 3
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อุปกรณ์ตรวจจับเหล่านี้ จะส่งข้อมูลที่รวบรวมได้ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปยังศูนย์ควบคุมการจราจร จากนั้นจะใช้อัลกอริทึม ขั้นสูง ที่เรียกว่า MODERATO วิเคราะห์ข้อมูลการจราจร และคำนวณเวลาสัญญาณไฟที่เหมาะสมที่สุด สำหรับสัญญาณไฟจราจรในพื้นที่นำร่อง

ทั้งนี้ จะคำนึงถึงปริมาณการจราจรและระดับความติดขัด และปรับเวลาสัญญาณไฟให้เหมาะกับสภาพการจราจรในพื้นที่แบบเรียลไทม์ ก็จะถูกส่งกลับไปยังสัญญาณไฟจราจรแต่ละแยกผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง เพื่อให้สัญญาณไฟเขียวที่ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเก็บรักษาบันทึกข้อมูลการจราจรและข้อมูลการทำงานของสัญญาณไฟ เพื่อให้นำไปใช้วิเคราะห์และปรับปรุงในอนาคตได้อีกด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า วันนี้จะเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร เรื่องการจราจรเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และส่งผลไม่ใช่แค่ในมิติรถติดแต่หมายถึงเศรษฐกิจ ชีวิตของประชาชนที่จะมีเวลากลับคืนมามากขึ้น การใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว รวมถึงอนาคตของกรุงเทพมหานครเองด้วย

กทม1

สุดท้ายแล้วกทม. ก็ต้องการดึงคนเก่ง ดึงบริษัทที่มีศักยภาพมาอยู่กับเรา สร้างเมืองที่น่าอยู่ ถ้าการจราจรเราติดขัด รถเคลื่อนที่ไม่ได้ โอกาสที่เราจะเป็นเมืองชั้นนำแห่งภูมิภาคก็น้อยลง

จะเห็นได้ว่า โครงการนี้ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 จนเป็นรูปธรรมในวันนี้ ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายเป็นอย่างมาก สำหรับความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน ที่ผ่านมาทั้ง JICA ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเป็นมิตรที่ดีอย่างมากต่อกรุงเทพมหานครเสมอมา

ที่สำคัญ เชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของความร่วมมือกันในครั้งนี้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ วันนี้เรานำร่องของระบบ ATC นี้ ครอบคลุมพื้นที่บนถนนหลัก 4 สาย สัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่งและสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง ต่อไปจะเป็นการขยายผลดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและจุดที่มีการจราจรติดขัดก่อน

กทม 1

ปัจจุบันในกทม.มี 500 สัญญาณไฟ เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าในอนาคตจะขยายผลอย่างไรให้ครอบคลุมทั้งหมด หากทำได้เชื่อว่าจะทำให้ตำรวจทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากการทดลองใช้งานจะเห็นว่าถนนพหลโยธินการจราจรดีขึ้นประมาณ 15% การจราจรอาจติดขัดบ้างแต่รถยังสามารถเคลื่อนตัวไปได้

สำหรับการใช้งบประมาณนั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีคือกล้อง CCTV กับอุลตร้าโซนิค เราพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ เช่น การใช้ข้อมูลจาก GPS มาดูปริมาณรถแทน ก็น่าจะใช้งบประมาณได้น้อยลง ขณะนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังมีการทดลองทำอยู่ หากสำเร็จก็จะสามารถทำได้เร็วเพราะไม่ต้องติดตั้งเซนเซอร์แต่ใช้ข้อมูลจาก GPS แทน

สำหรับข้อดี คือ กทม. เอง มีเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติค เพราะฉะนั้นการส่งสัญญาณต่าง ๆ สามารถส่งผ่านไฟเบอร์ออฟติคนี้ได้เลย เชื่อว่าสิ้นปีนี้จะเห็นการขยายผลอย่างรวดเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo