General

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยันอาคารสูงในกทม. รับมือแผ่นดินไหวได้ ซักซ้อมรับเหตุในอนาคต

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำอาคารสูงในพื้นที่ กทม. ยังสามารถรับมือแผ่นดินไหวได้  เร่งติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนในอาคารสาธารณะเพิ่ม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 08.40 น. ของวันนี้ (19 มิ.ย.66) ส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานครได้รับความรู้สึกสั่นไหว

รับมือแผ่นดินไหว

นายชัชชาติกล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ความรุนแรง 6 ริกเตอร์ ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากกรุงเทพมหานคร 500 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่หลายเขตรู้สึกได้

จากข้อมูลการรายงานจากผู้อำนวยการเขต พบว่ามี 10 เขตที่รู้สึกได้ คือ จตุจักร บางรัก คลองเตย ลาดพร้าว บางเขน หลักสี่ ห้วยขวาง บางพลัด บางขุนเทียน หนองแขม โดยเป็นเขตที่มีอาคารสูง แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับทีมวิจัยหลายมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาการรับมือมานานแล้ว โดยติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนที่ ชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีหลายปัจจัยที่น่าสนใจ

ติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนรับมือแผ่นดินไหว

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเริ่มมีการติดวัดเครื่องมือเพื่อวัดความสั่นสะเทือนของอาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 บนชั้น 36 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด

วัดความสั่นสะเทือน

ตัวกราฟแสดงให้เห็นว่าตามอัตราเร่งของ Peak Resiversion หน่วยเป็น milli-g (มิลลิจี) โดย g คือ ค่าแรงโน้มถ่วงของโลก บนอาคารธานีนพรัตน์ วัดได้ 3.5 milli-g ซึ่งคนจะรับรู้ความรู้สึกได้ เมื่อค่าความเร่งในแนวราบจากแรงแผ่นดินไหวอยู่ที่ 1 – 2 milli-g

ในส่วนของชั้น 4 ของอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค่าความเร่งอยู่ที่ 1.5 milli-g

สำหรับความต้านทานแรงแผ่นดินไหว หากเป็นอาคารเก่าที่สร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2550 ซึ่งไม่ได้ออกแบบให้ครอบคลุมถึงเรื่องความสามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ จะสามารถต้านทานได้อยู่ที่ 50 milli-g เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้าง และที่ 150 milli-g เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง

ส่วนอาคารที่ออกแบบให้สามารถต้านทานแรงจากแผ่นดินไหวได้ ภายหลังการออกกฎกระทรวงปี 2550 นั้น จะสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 100 milli-g เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้าง และสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 500 milli-g เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง

วิศณุ ทรัพย์สมพล 1
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มสำรวจตรวจสอบอาคาร ที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว พบว่าไม่มีอาคารใดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น จึงสรุปได้ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวันนี้ อยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจน และทำให้เกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคาร แต่ยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้

รศ.ดร.ฉัตรพันธุ์ จินตนาภักดี อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดิน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่พบความเสียหาย เนื่องจากเกิดห่างจากประเทศไทยมาก ซึ่งเดิมเคยเกิดที่จังหวัดเชียงรายในปี 2557 และมีความเสียหายเกิดขึ้น

แต่ในครั้งนี้เกิดความรุนแรงในระดับต่ำที่มาก ประชาชนที่อยู่ในตึกสูงอาจจะรู้สึกได้ และเกิดความตระหนก ซึ่งการออกแบบอาคารในกรุงเทพฯ สามารถต้านทานได้ ไม่มีปัญหา

วันนี้ถือว่าเป็นการฝึกซ้อม เผชิญเหตุในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นอีก ซึ่งยังไม่สามารถทำนายได้ ต้องเตรียมพร้อมอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐาน

รศ.ทวิดา กมลเวชช

สำหรับมาตรฐานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนด ถือว่ามีรูปแบบและคุณลักษณะที่สูงเพียงพอ อย่างไรก็ดีอาคารในกรุงเทพฯ มีความหลากหลาย มีทั้งอาคารที่สร้างถูกต้องและอาคารที่สร้างเองซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่า โดยเฉพาะอาคารที่ชั้นล่างมีความอ่อนแอ เปิดโล่ง มีเสาไม่กี่ต้น และด้านบนมีสิ่งก่อสร้าง มีกำแพง ทำให้ชั้นล่างจะมีความเสี่ยงมากกว่า

ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว​ กล่าวเสริมว่า ค่าความเร่งการสั่นสะเทือน หรือ ค่า milli-g ที่วัดได้จากอาคารธานีนพรัตน์ 3.5 milli-g นั้น ทำให้คนที่อยู่บนอาคารรู้สึกได้หรือสิ่งของสั่นไหวได้ ซึ่งหากรุนแรงถึงระดับ 10-20 milli-g อาจมีความเสียหายได้ แต่ขณะนี้ตัวเลขยังต่ำอยู่อาคารจึงมีความปลอดภัยแน่นอน

โครงการวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับ กทม. อยู่ ในอนาคตจะมีการติดตั้งเครื่องมือในอาคารให้มากขึ้น และสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานอาคารได้ทันที รวมทั้งทำให้เราทราบพฤติกรรมตึกมากขึ้น ต่อไปกทม.จะติดเครื่องมือในอาคารสาธารณะ อาคารสูง และรพ.กทม. 6 แห่ง

ด้านกฎกระทรวงที่ใช้เพื่อควบคุมอาคารในเรื่องแผ่นดินไหว มีมาตั้งแต่ 2550 และมีอาคารที่ขออนุญาตภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้ จำนวน 2,887 อาคาร และมีมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ซึ่งออกในปี 2565 ครอบคลุมอาคาร 141 อาคาร รวม 3,028 อาคาร

ดร.อมรเทพ
ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี

แต่ยังมีอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 โดยเป็นอาคารสูงมากกว่า 6 ชั้นขึ้นไป จำนวน 11,482 อาคาร แต่อาคารเหล่านี้ก็มีการออกแบบเพื่อรองรับอยู่แล้ว

ซักซ้อมภัยแผ่นดินไหว เทียบเท่าไฟไหม้และสารเคมีรั่ว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กทม.ยังคงสำรวจอาคาร และทำแผนที่อาคารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการสำรวจโครงสร้างเป็นระยะด้วย ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวยังไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้  เมื่อเกิดเหตุจึงต้องมีเครื่องมือวัดและสามารถแจ้งเตือนประชาขนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

ปัจจุบัน ระบบที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้คือ Line Alert ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งกทม.ได้ร่วมในการแจ้งเตือนเรื่องฝุ่นPM2.5 โดยจากนี้ไปจะเชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้เขตสำรวจพื้นที่สั่นไหวที่รู้สึกได้และรายงานเข้าสู่ระบบ

อีกส่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน คือ การปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในอาคาร การซักซ้อมการเผชิญเหตุ ถึงแม้อัตราการเกิดเหตุในกรุงเทพฯจะน้อย แต่ในบางครั้งคนกรุงเทพฯเดินทางไปเที่ยวในจุดเสี่ยง จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ จะมีการทำผังอาคาร และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ชัดเจน ที่ผ่านมา กทม. ได้ตรวจสอบอาคารที่เป็นสถานประกอบการ และอาคารที่ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว โดยเดิมเน้นภัยประเภทอัคคีภัย เนื่องจากมีความถี่ของการเกิดเหตุสูงสุด แต่ในขณะนี้ต้องเพิ่มเรื่องสารเคมีรั่วไหลและแผ่นดินไหวด้วย

รศ.ทวิดา กมลเวชช1
รศ.ทวิดา กมลเวชช

สิ่งที่ต้องปรับปรุงในขณะนี้ คือ เรื่องของข้อมูล เนื่องจาก กทม. ไม่สามารถตรวจจับข้อมูล (Detect) แผ่นดินไหวเองได้ ต้องอาศัยข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมอุตุนิยมวิทยา

ในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับอาคารสูง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน นั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า อาคารสูงมีการออกแบบตามมาตรฐานอยู่แล้ว มีการคำนวณโดยวิศวกร เชื่อว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวล

เช่นเดียวกับพื้นที่ตั้งของอาคารซึ่งเป็นเรื่องของฐานรากและไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออาคารลักลอบก่อสร้างและไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งรองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวย้ำว่า อาคารที่ออกแบบในปัจจุบันนี้มีมาตรฐานสูงขึ้น มีการออกแบบเพื่อรับแรงลมอยู่แล้วจึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด

นายชัชชาติ กล่าวสรุปว่า อาคารทั่วไปสามารถรับมือแผ่นดินไหวได้ระดับหนึ่งแล้ว การก่อสร้างไม่ได้ต้องการเฉพาะความแข็งแรง แต่ต้องการเรื่องของความเหนียวด้วย การใส่เหล็กหลอก การมีเสาให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากการก่อสร้างได้มาตรฐานบ้านเรือน 2 ชั้นก็สามารถรับแรงได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ต้องมีการใช้งานได้หลังเหตุแผ่นดินไหว จะเข้มข้นในเรื่องของการออกแบบอยู่แล้ว เช่น สถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ซึ่งหลังแผ่นดินไหวต้องใช้งานได้ ความสำคัญของโครงสร้างจะมีผลต่อความเข้มข้นของการออกแบบด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo