General

‘วิโรจน์’ แจงละเอียด 5 ข้อ สาเหตุ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ ล้มเหลวแก้คอร์รัปชัน

“วิโรจน์” ไขข้อข้องใจ “รัฐบาลประยุทธ์ ” แก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ แจงละเอียด 5 ข้อ สาเหตุของความล้มเหลว ทั้ง ๆ ที่ เป็นรัฐบาลที่มีรากมาจากเผด็จการ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ..พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แสดงความคิดเห็น ถึงการที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยระบุว่า 

345630925 254366473816749 3879816643068733796 n

ทำไมการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ของรัฐบาลรากเผด็จการ ถึงล้มเหลวไม่มีชิ้นดี

ผมอ่านบทความนี้ของไทยรัฐพลัส ที่พูดถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งหากพิจารณาจาก “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” หรือ Corruption Perceptions Index: CPI) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ก็ต้องยอมรับว่า “ล้มเหลวไม่มีชิ้นดี” ทั้งคะแนน และอันดับต่างก็แย่ลง

ประเด็นสำคัญที่ชวนขบคิด ก็คือ ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ของรัฐบาลที่มีรากมาจากเผด็จการ นั้นเกิดจากอะไร ทั้ง ๆ ที่มีมาตรา 44 มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีอำนาจที่สั่งการอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ โดยที่ไม่ต้องรับผิดใด ๆ แล้วทำไมถึงยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่ได้ หนำซ้ำยังทำให้ปัญหาการคอร์รัปชัน และระบบส่วย สินบน กลายเป็นสารตั้งต้นของขบวนการมาเฟียจีนสีเทา ในประเทศไทย อีกด้วย

จนประชาชนอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า ในเมื่อใครคิดต่าง รัฐบาลก็ส่งสันติบาลไปตาม ส่ง กอ.รมน. ไปสะกดรอยได้ เรียกมาปรับทัศนคติก็มีเต็มไปหมด แล้วทำไมไม่เคยคิดจะเรียกหัวขบวนส่วย มาเฟียจีนสีเทา ไปปรับทัศนคติบ้าง หรือว่าคนพวกนี้มีทัศนคติที่ตรงกันกับรัฐบาลประยุทธ์ หรืออย่างไร

ผมคิดว่าสาเหตุของความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาลประยุทธ์ น่าจะมีอยู่ 5 สาเหตุ หลัก ๆ ด้วยกัน คือ

1. อำนาจบาตรใหญ่ แบบเบ็ดเสร็จ ที่บั่นทอนการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นปุ๋ยชั้นดี ที่ทำให้การคอร์รัปชันเบ่งบาน ถักทอจนเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ เพราะระบบการแต่งตั้งโยกย้าย เผด็จการก็มักจะเลือกเฉพาะคนในเครือข่ายของตนขึ้นมากุมอำนาจ ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เนื่องด้วยเผด็จการไม่ได้รู้จักคนทั้งหมดหรอก

สุดท้ายก็ค่อย ๆ พัฒนากลายเป็น ระบบฝาก ระบบตั๋ว และการซื้อขายตำแหน่ง ที่มีการส่วยกันหลายชั้น เรื่องทุจริตอะไรที่เกิดขึ้น ก็จับได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย พอสืบไปสักพัก ก็จะเจอคนของคนนี้ เด็กของคนนั้น จนกระบวนการยุติธรรมแตะต้องไม่ได้

ป.ป.ช. ที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการปราบปรามการทุจริต ก็มีที่มาจากกลไกของเผด็จการเสียอีก สังคมก็เลยฝากความหวังอะไรกับ ป.ป.ช. ในแบบที่เป็นอยู่ ไม่ได้มากนัก

2.  รัฐบาลไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการปกป้องข้าราชการที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต จึงทำให้ข้าราชการที่ดี ได้แต่ท้อใจ บางคนต้องจำใจหาส่วยไปส่งนายถ้าไม่ทำ ก็จะโดนกลั่นแกล้งรังแก ใครทนไม่ไหวก็ต้องลาออกไป

นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องผลักดัน พ.ร.บ.ปกป้องผู้เปิดโปงการทุจริตหรือ Whistle Blower Protection Act ให้เกิดขึ้นให้ได้

3. กฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ. กฎกระทรวง ประกาศ ต่าง ๆ ที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง บทกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ระเบียบการบังคับใช้กฎหมายที่ให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มากเกินไป การขออนุญาต และงานทะเบียนที่ซ้ำซ้อน วุ่นวาย หลายขั้นตอน

ทั้งหมดนี้ เป็นช่องว่าง ที่ข้าราชการที่ไม่ดีจำนวนไม่น้อย ใช้เป็นเครื่องมือในการไปรังควาน รังแกประชาชน เพื่อรีดไถ เรียกรับผลประโยชน์ กลับไม่เคยถูกสังคายนาเลย ไม่เคยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม ได้เข้ามาทบทวนแก้ไขกฎหมายเหล่านี้เลย  พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ก็ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

4. รัฐบาลนี้ไม่ได้ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ในรูปแบบ Machine readable จึงเป็นอุปสรรคอย่างมาก ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของภาครัฐ

5. รัฐบาลไม่ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการบริหารงานภาครัฐ อย่างจริงจัง ทั้งการนำเอามาใช้แทนการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการกับประชาชน และการตรวจจับการทุจริตต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

พอมีแต่ความขึงขัง กักขฬะ ใช้แต่การจับผิด เอากฎหมายไปเล่นงานเฉพาะคนที่เห็นต่าง ส่งเสริมให้เหล่าบรรดานักร้องไปหาเรื่องหาราวเพื่อเอาไปเป็นชนักปักหลัง ให้กับฝ่ายตรงข้าม จนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป กฎหมายถูกใช้อย่างหลายมาตรฐาน ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน จึงได้เละตุ้มเป๊ะ อย่างที่เห็นกันอยู่ ไงล่ะครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo