Politics

‘วิโรจน์’ ลั่น ปราบอย่างเดียว ไม่จบ! ชี้ 4 ธงสำคัญ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

“วิโรจน์” ลั่น ปราบอย่างเดียว “ปัญหาคอร์รัปชัน” ไม่จบ ชี้ ต้องแก้ที่โครงสร้าง พร้อมแนะ 4 ด้านแไข  ทั้งเรื่องระบบข้าราชการ ปราบส่วยครบวงจร จัดการกฎหมายเวิ่นเว้อ และนำเทคโนโลเข้ามาใช้ เพื่อช่วยสร้างความโปร่งใส

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ..พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ในไทย โดยระบุว่า

ปัญหาคอร์รัปชั่น

4 ธงสำคัญ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แค่ปราบอย่างเดียว ไม่จบ!

พอพูดถึงปัญหาการคอรัปชั่นในประเทศไทย ที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าไม่มีการปราบปรามนะครับ ก็มีการปราบกันเป็นระยะ ๆ แต่พอสักพักการคอร์รัปชั่น ก็กลับมาใหม่ นั่นเป็นเพราะว่า เราเน้นแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่โครงสร้างเลย

ดังนั้น การที่จะแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นที่ดีที่สุด จะต้องไม่ใช่แค่ปราบ แต่ต้องแก้ไขที่โครงสร้างด้วย และต้องทำให้ประชาชนทุกภาคส่วน เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ของระบบที่ปราศจากคอร์รัปชั่น ทำให้การคอร์รัปชั่น มีกระบวนการที่วุ่นวายกว่าการทำงานตรงไปตรงมา

ตราบใดก็ตาม ถ้ายังมีการสมประโยชน์กันของการให้และรับสินบน การทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะผุดขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดไป ผมจึงคิดว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องมีธงสำคัญในการแก้ไขปัญหาอยู่ 4 ด้าน ด้วยกัน คือ

1. สร้างระบบที่ข้าราชการที่ดี มีโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน ข้าราชการระดับปฏิบัติงานได้รับสวัสดิการที่ดี มีขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ไม่มีระบบตั๋ว เพราะถ้าได้ตำแหน่งมาด้วยการซื้อ ก็ไม่วายต้องใช้อำนาจจมาถอนทุนคืน หรือไม่ก็ต้องตอบแทนมาเฟียเจ้าของทุน

2. ปราบปรามวงจรส่วยอย่างครบวงจร ไม่ใช่แค่จับปลาซิวปลาสร้อย ดังนั้น การมี พ.ร.บ.ปกป้องผู้เปิดโปงเบาะแสการคอร์รัปชั่น (Whistle Blower Protection Act) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เพราะหากผู้เปิดโปงการทุจริต ได้รับการกันตัวไว้เป็นพยาน และได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เครือข่ายการทุจริตขยายวง จนผลประโยชน์ไม่ลงตัว เมื่อการเปิดโปงเกิดขึ้น ก็จะทำให้รัฐมีหลักฐานเพียงพอ ที่จะทลายเครือข่ายการทุจริตได้แบบยกรัง

3. แก้ไขกฎหมายที่เวิ่นเว้อวุ่นวาย มีงานธุรการเต็มไปหมด ให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่มากจนเกินไป เนื้อหา และหลักเกณฑ์ในกฎหมายไม่สมเหตุสมผล ขัดกับมาตรฐานสากล ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง

กฎหมายแบบนี้ จะทำให้คนที่ตั้งใจทำธุรกิจอย่างสุจริต ต้องมาผิดกฎหมายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทำให้ข้าราชการที่ไม่ดีบางคน เอากฎหมายแบบนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง รังควาน เพื่อเรียกรับผลประโยชน์

ปัญหาคอร์รัปชั่น

อย่างกรณี ส่วยทางหลวง ก็ต้องมาทบทวนว่า การกำหนดให้รถพ่วง ไม่ว่าจะ 6 เพลา 20 ล้อ 6 เพลา 22 ล้อ หรือ 7 เพลา 24 ล้อ ที่แต่เดิมมีน้ำหนักจำกัดที่ 52 ตัน 53 ตัน และ 58 ตัน อยู่ดี ๆ คสช. ก็เปลี่ยนมาให้มีน้ำหนักจำกัดเท่ากันที่ 50.5 ตัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 นั้น สมเหตุสมผลตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ หรือเป็นการปรับหลักเกณฑ์ เพื่อหมายให้คนที่ทำถูกกฎหมาย อยู่ดี ๆ กลายเป็นคนที่ผิดกฎหมายไปเสียอย่างนั้น

โดยทั่วไปแล้ว การจำกัดน้ำหนักรถบรรทุก ต้องพิจารณาจากน้ำหนักเฉลี่ยที่ถ่ายลงเพลา และถ่ายลงล้อแต่ละล้อ ไม่ใช่น้ำหนักรวม ถ้าน้ำหนักบรรทุกมาก แต่มีจำนวนล้อมากเพียงพอ ที่จะถ่ายน้ำหนักลงพื้นถนน ก็อาจจะไม่เป็นปัญหา

ในเรื่องนี้ หลักเกณฑ์การจำกัดน้ำหนักของรถบรรทุก สามารถปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือสภาวิศวกร ให้ทบทวนตามหลักวิศวกรรม แล้วกำหนดเกณฑ์ใหม่ให้มีความสมเหตุสมผลได้เลย  ถ้ากฎหมายมีความสมเหตุสมผล ไม่มีใครอยากจ่ายส่วยหรอกครับ

4. นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสในระบบราชการ และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ลง เช่น

  • ทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ลดงานธุรการ และขั้นตอนการขออนุญาตที่ซ้ำซ้อนลง
  • เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส
  • ใช้ AI จับพิรุธของการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ

อย่างกรณีส่วยทางหลวง ถ้าเราเปลี่ยนระบบการชั่งน้ำหนัก จากการต่อคิวเข้าด่านชั่ง ให้กลายเป็น “ระบบชั่งน้ำหนักขณะรถวิ่ง” (Weigh In Motion หรือ WIM) ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวชั่งน้ำหนัก คันไหนบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็จะถูกออกใบสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยทันที แล้วให้ไปจ่ายค่าปรับผ่านระบบธนาคาร

ปัญหาคอร์รัปชั่น

สรุปก็คือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น จะใช้แค่การปราบอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องแก้ที่โครงสร้างด้วย ถ้าปราบอย่างเดียว อีกสักพักก็จะกลับมาใหม่ ถ้าเราทำควบคู่กันไป ทั้งการปราบปราม การปรับปรุงกฎหมายให้สมเหตุสมผล การมีระบบคุณธรรมส่งเสริมคนดีให้เติบโตมีความก้าวหน้าในอาชีพ และการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุน ในที่สุด ปัญหาการคอร์รัปชั่น ก็จะถูกจัดการให้หมดไปอย่างถาวร และยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo