General

ปภ. เตือน 60 จังหวัดต่อไปนี้ รับมือพายุฤดูร้อน 29 เม.ย.-1 พ.ค. 66

ปภ. แจ้งเตือน 60 จังหวัดภาคเหนือ-อีสาน-กลาง และ กทม. เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ช่วงวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (121/2566) ลงวันที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า

พายุฤดูร้อน

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลาง จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน มีกำลังแรงขึ้น

ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น มีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม 2566 ได้แก่

  • ภาคเหนือ ทุกจังหวัด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกจังหวัด
  • ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และ 23 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ปภ 1

กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือพายุที่อาจเกิดขึ้น โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

พร้อมกันนี้ ได้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น

ขณะเกิดพายุฤดูร้อนให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายในระยะนี้ไว้ด้วย

ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือทางไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ1784  โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo