General

เปิดประวัติ ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ นักการเมืองชื่อดัง เสียชีวิตในวัย 55 ปี

เปิดประวัติ “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” นักการเมืองชื่อดัง เสียชีวิตในวัย 55 ปี หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการฮีตสโตรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักการเมือง นักธุรกิจ และนักแข่งรถชื่อดัง ได้ถูกนำตัวส่ง รพ.บุรีรัมย์ อย่างเร่งด่วนเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ด้วยภาวะฮีตสโตรก ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์

ชนม์สวัสดิ์ 313666

โดยนายชนม์สวัสดิ์ ได้รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู โดยมีนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบินด่วนมาจากกรุงเทพฯ เดินทางเข้าเยี่ยม

ล่าสุดมีรายงานว่า “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” ได้เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาล เมื่อเวลา 01.15 น. ที่ผ่านมา และเช้าวันนี้ เวลา 09.00 น. จะเคลื่อนร่าง จาก จ.บุรีรัมย์ มาประกอบพิธีทางศาสนา ที่บ้านขาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ. สมุทรปราการ

ประวัติ “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”

นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ชื่อเล่นว่า “เอ๋” เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 เป็นบุตรของ “วัฒนา อัศวเหม” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อปากน้ำ” เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย เคยได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ในชุดของพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก มีพี่ชาย ๒ คน คือ พิบูลย์ อัศวเหม และ พูลผล อัศวเหม

เอ๋ ชนม์สวัสดิ์

“เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” สมรสกับ “นันทิดา แก้วบัวสาย” นักร้องชื่อดัง มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน คือ “ชนม์ทิดา อัศวเหม”

“ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” เป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านธุรกิจการเกษตร และด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ และเขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาถูกสั่งปลดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558

เอ๋ ชนม์สวัสดิ์

เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคมหาชน เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อแผ่นดิน ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2550 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ในปี 2551 และในการเลือกตั้ง 2562 เขาให้การสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ

“เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” เคยถูกจำคุกในคดีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการปี 2542 ซึ่งศาลฎีกาตัดสินเมื่อ 4 สิงหาคม 2558 ต่อมาเขาได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 8 ของพระราชทานอภัยโทษพระราชกฤษฎีพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งได้ลดวันต้องโทษ 1 ใน 4 ของโทษที่เหลือ เมื่อ 7 กันยายน 2559

ขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia.org

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK