General

สปสช. ตั้งคณะทำงานฯ ด้านทันตกรรม เพิ่มบริการเข้าถึงผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

สปสช. ตั้ง คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม รุกพัฒนาระบบ แก้อุปสรรค ดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม กล่าวว่า การดูแลสุขภาพฟันและช่องปาก ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาและฟื้นฟู เป็นบริการที่จำเป็นสำหรับทุกกลุ่มวัย

ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

ทั้งนี้ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ที่ผ่านมา สปสช. ได้ตั้งคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงานฯ โดยมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น รูปแบบการบริการหรือนวัตกรรมบริการด้านทันตกรรม กลไกการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข รูปแบบและวิธีการตรวจสอบการประเมินผล การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของผุ้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ร่วมประชุมเป็นครั้งแรก และได้ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์การเข้าถึงบริการทันตกรรมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเข้าถึงบริการต่อไป

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

พญ.วรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลอ้างอิงผลการการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2564 โดยการสำรวจประชากรที่มารับบริการทันตกรรม พ.ศ. 2556-2564 พบว่า ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมสูงสุดในปี.2564 อยู่ที่  9.9% และน้อยสุดในปี 2558 อยู่ที่ 8,1%

ส่วนการรับบริการ มีทั้งขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน อุดฟัน ตรวจสุขภาพช่องปาก ใส่ฟันเทียม จัดฟัน เคลือมหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ โดยประชาชนในเขต กรุงเทพมหานครเข้าถึงบริการมากที่สุด 51.8% และเมื่อแยกการให้บริการตามประเภทของสถานพยาบาลจะเป็นการให้บริการโดยสถานพยาบาลภาครัฐ 45.6% และสถานพยาบาลเอกชน 42.8%

ขณะที่ผลการเข้าถึงบริการทันตกรรม เมื่อแยกตามสิทธิประกันสุขภาพ พบว่า สิทธิสวัสดิการข้าราชการเข้าถึงมากที่สุด 15.4% รองลงมาคือ สิทธิประกันสังคม 12% และสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 7.8% ตามลำดับ

สปสช. สำเนา 2

แต่เมื่อเปรียบเทียบการมีสิทธิประกันสุขภาพและใช้บริการตามสิทธิ พบว่า ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการทันตกรรมสูงสุด 36.6% รองลงมาเป็นสิทธิข้าราชการ 24% และสิทธิประกันสังคม 8.7%

อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 28% ที่ไม่ใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ โดยสาเหตุของการไม่ไปใช้บริการตามสิทธิสูงสุด คือ การให้บริการช้าและรอคิวนาน 42.7% รองลงมาคือ สิทธิบริการไม่ครอบคลุม 29.8% ไม่สะดวกไปในเวลาทำการ 16.4% และสถานพยาบาลอยู่ไกล ไม่สะดวก 3.7%

จากข้อมูลที่ปรากฏนี้จำต้องมีการบริหารจัดการด้วยกลไกต่างๆ เช่น เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการได้ มีสถานพยาบาลบริการเพิ่ม มีระบบนัดหมายที่ดี สิทธิประโยชน์ครอบคลุม และให้บริการที่ต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นกลไกเชื่อมต่อกับผู้รับบริการที่ต้องมีการรับรู้ข้อมูล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิและบริการ

ด้าน ทพ.สันติ ศริวัฒนไพศาล ผอ.สปสช. เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แบ่งการให้บริการออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

1. บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันแยกตามกลุ่มวัยภายใต้ประกาศฯประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2565

2. บริการทันตกรรมรักษาและทันตกรรมฟื้นฟู โดยแบ่งการให้บริการตามรูปแบบการชดเชยค่าบริการได้แก่ ทันตกรรมรักษาเหมาจ่าย ทันตกรรมรักษาตามรายการ OP Anywhere บริการกรณีเฉพาะ Central Reimbursement : CR

3. นวัตกรรมการให้บริการด้านทันตกรรม ได้แก่ บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ รายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พบว่า ในกลุ่มอายุ 35-44 ปี มีผู้ที่เป็นฟันผุถึง 43.3% ฟันถอน 85.3% และฟันอุ 46.6%

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมของประชาชนยังคงมีปัญหา จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้สิทธิเข้าถึงบริการได้ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่คณะทำงานฯ ต้องมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกในการดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo