General

เด็ก 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ‘PM2.5’ เร่งทำ ‘ห้องปลอดฝุ่น’ นำร่องในศูนย์เด็กเล็ก 30 แห่ง

เผยเด็ก 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ‘PM2.5’ กรมอนามัย จับมือ สสส. WHO ขับเคลื่อน ‘ห้องปลอดฝุ่น’ นำร่องในศูนย์เด็กเล็ก 30 แห่ง

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง นวัตกรรมห้องปลอดฝุ่นและขับเคลื่อนชุมชน เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ จากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

PM2.5

นายแพทย์อรรถพล กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานจนอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จากฐานข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจในประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การเจ็บป่วยเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ และมีความสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน

เด็กเล็ก กลุ่มเปราะบาง

กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับปฏิบัติการโดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ การผลักดันให้มีการจัดทำ “ห้องปลอดฝุ่น” ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพในช่วงที่มี PM2.5 สูง

ทั้งนี้ ห้องปลอดฝุ่น มีหลักการคือ “กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นภายในห้อง และดันฝุ่นออก” ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่บ้านและสถานที่สาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ รวมถึงปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของปอดและคุณภาพชีวิตในระยะยาว

PM2.5
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์

เด็ก 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นพิษ

ปัจจุบันพบว่ามีเด็กอายุ 0 – 6 ปี กว่า 2.6 ล้านคน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจาก PM2.5 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นฯ โดยการพัฒนาแนวทางและต้นแบบห้องปลอดฝุ่น ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 30 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และขยายผลสู่สถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ

รวมถึงได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลห้องปลอดฝุ่น เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถค้นหาห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ใกล้เคียง และสืบค้นองค์ความรู้ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ยังร่วมกับกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ชุมชน และเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการจัดทำห้องปลอดฝุ่น แนวทางการขับเคลื่อนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและร่วมจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน

PM2.5

ห้องปลอดฝุ่น ลดเสี่ยง PM2.5

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า อยู่ในระดับสีแดง

ดังนั้น เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจาก PM 2.5 สสส. จึงสานพลังกับ กรมอนามัย เปิดตัว “ห้องปลอดฝุ่น” ซึ่งเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดโอกาสการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในอาคาร ในภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

โดยจะเริ่มสร้างต้นแบบที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง และจะขยายความร่วมมือในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศต่อไป

ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO Thailand) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการรับมือกับมลพิษทางอากาศ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวตามเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

ในปีนี้ WHO ร่วมกับกรมอนามัย ดำเนินการรวบรวมและเผยแพร่ Best Practice ทั้งนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น และแนวทางการขับเคลื่อนชุมชนที่มีการจัดการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่พื้นที่และประเทศอื่นๆ ต่อไป

อ่านข่่าวเพิ่มเติม

Avatar photo