General

เพิ่มสิทธิบัตรทอง ‘สปสช.’ จับมือสภาเทคนิคการแพทย์ ตรวจแล็บใกล้บ้าน

สปสช. จับมือสภาเทคนิคการแพทย์ เพิ่มทางเลือกสิทธิบัตรทอง เตรียมขยาย บริการตรวจแล็บที่คลินิกแล็บใกล้บ้าน ตรวจอะไรได้บ้าง เช็กเลย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การตรวจสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือ แล็บ ( Laboratory : LAB) เป็นกระบวนการสำคัญในทางการแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค การติดตามการรักษา การป้องกันโรค และการประเมินภาวะสุขภาพ

สิทธิบัตรทอง

สำหรับบริการแล็บเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบริการสุขภาพ ที่สามารถรับบริการที่นอกสถานพยาบาลได้ ดังนั้นเพื่อลดการรอคอยการบริการและลดความแออัดในสถานพยาบาล ที่ผ่านมา สปสช. จึงสนับสนุนโครงการเจาะเลือดใกล้บ้าน

ทั้งนี้ ได้เริ่มต้นที่หน่วยเจาะเลือดนอกหน่วยที่เป็นเครือข่ายของสถานพยาบาล เป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความสะดวกการเข้ารับบริการให้กับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท

ในปี 2566 นี้ สปสช. ได้ร่วมกับสภาเทคนิคการแพทย์ เพิ่ม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ร่วมให้บริการตรวจแล็บ ณ คลินิกแล็บที่ใกล้บ้าน (Lab Anywhere) ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ถือบัตรทอง 30 บาทตามความสมัครใจ

บริการตรวจแล็บดังกล่าว จะให้บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผลแล็บให้กับประชาชนสิทธิบัตรทองที่เข้ารับบริการ ซึ่งจะให้บริการตรวจแล็บจำนวน 24 รายการ ภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยแบ่งบริการตรวจเป็น 2 ประเภท คือ

ตรวจแล็บ

  • บริการตรวจแล็บเพิ่มการเข้าถึง บริการระดับปฐมภูมิในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กำหนดให้บริการตรวจแล็บจำนวน 22 รายการ ซึ่งผู้ป่วยจะรับบริการได้ต้องมีใบสั่งแพทย์ และเข้ารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ในเครือข่ายการบริการของสถานพยาบาล โดยเบื้องต้นผู้ป่วยจะนำผลตรวจไปพบแพทย์ตามนัด
  • บริการตรวจแล็บเพิ่มการเข้าถึง บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กำหนดให้บริการตรวจ 2 รายการ คือ บริการตรวจการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่สงสัยตั้งครรภ์ (อาการแพ้ท้อง) หรือประจำเดือนไม่มาตามกำหนด ไม่เกินปีละ 4 ครั้ง และบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) ในผู้ที่อายุ 50 –70 ปี ตรวจ 1ครั้ง ทุก 2 ปี พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงการส่งต่อกรณีผลการตรวจพบความผิดปกติ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการตรวจแล็บทั้ง 2 รายการนี้ ประชาชนผู้ภือบัตรทองตามกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

ในส่วนของมาตรฐานคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. นั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ เนื่องจากคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์ โดย สภาเทคนิคการแพทย์ (LA: Laboratory Accreditation) หรือ ISO 15189

หรือมาตรฐานเทคนิคการแพทย์โดย กสธ. (MOPH) หรือมาตรฐานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่วมให้บริการได้ ซึ่งขณะนี้มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ 17 แห่ง ที่สมัครเข้าร่วมบริการแล้ว

ขณะนี้ สปสช. และ สภาเทคนิคการแพทย์ อยู่ระหว่างการวางระบบ และเตรียมความพร้อมในการให้บริการ คาดว่าจะเริ่มได้ในเร็ววันนี้ ถือเป็นความร่วมมืออันดีของ สปสช. กับองค์การวิชาชีพด้านการแพทย์ ในการดึงบทบาทและหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพมาช่วยกันดูแลประชาชนผู้ถือธิบัตรทอง เพื่อยกระดับบริการในระบบบัตรทองให้ดียิ่งขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo