General

ของขวัญปีใหม่ 2566 ผู้สูงวัย สธ. เปิด ‘คลินิกผู้สูงอายุ’ ในโรงพยาบาลทุกระดับ

สธ. มอบของขวัญปีใหม่ 2566 สำหรับผู้สูงอายุ เปิด “คลินิกผู้สูงอายุ” ในโรงพยาบาลทุกระดับ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม 

จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ(60 ปีขึ้นไป)มากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.21 ล้านคน เป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 13.28 ล้านคนหรือ 20.05% ของประชากรทั้งประเทศ

คลินิกผู้สูงอายุ

นั่นหมายความว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ และยังมีการคาดการณ์ว่าอีกไม่ถึง 10 ปี (ปี 2574) ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 25% และประมาณ 4% ของผู้สูงอายุ จะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าสู่สังคมสูงวัย และให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ มีแผนมุ่งขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ และทั่วถึง มุ่งเน้นให้มีมาตรการในการดูแลสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เป็นนโยบายสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ

ในโอกาสปีใหม่ 2566 นี้ นายอนุทิน ได้มอบนโยบายให้ดำเนินโครงการ ของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ โดยกรมการแพทย์ ได้รับมอบหมายให้ร่วมกับกองบริหารการสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบด้านการดูแลรักษา เมื่อผู้สูงอายุได้รับการประเมินว่า มีความเสี่ยงในกลุ่มอาการสูงอายุ หรือโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะได้รับการส่งต่อเข้ารับการดูแลรักษาที่ คลินิกผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาลทุกระดับ พร้อมทั้งร่วมมือกับ สปสช.,หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาสายตา ปัญหาด้านการกลั้นปัสสาวะ โดยการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นให้แก่ผู้สูงอายุ

โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ ปี 2566

1. สนับสนุนการจัดตั้ง คลินิกผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาลทุกระดับ ตามแนวทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric approach) เพื่อรองรับการเข้าถึงบริการรับส่งต่อผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือมีปัญหากลุ่มอาการสูงอายุ

ทั้งนี้ จะมีการคัดกรองโดย อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รวมทั้งการจัดทำมาตรฐาน และส่งเสริมการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาลทุกระดับ

2. จัดทำหลักสูตรด้านผู้สูงอายุ และฝึกอบรมบุคลากรที่มีหน้าที่ในดูแลรักษาผู้สูงอายุ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข และวิชาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

คลินืกผู้สูวอายุ

3. เตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยี สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปสู่การวินิจฉัย กำหนดแนวทางดูแลรักษารายบุคคล สามารถรับส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ และจัดการข้อมูลดูแลรักษาได้อย่างเชื่อมโยงด้วยระบบ DMS Care Tools

4. บูรณาการงานร่วมกันระหว่างกรมอื่น ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เช่น ร่วมสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยโรคทางสายตา และสนับสนุนแว่นตา เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียม และมุ่งสร้างความทั่วถึง ด้านการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ กระจายโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาได้รับการดูแลรักษา ตลอดจนช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง และให้ผู้สูงอายุคงศักยภาพในการดำเนินการชีวิตอย่างมีคุณภาพ

แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้เปิดให้บริการ“ คลินิกผู้สูงอายุ ตามแนวทางการ โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ  เพื่อให้บริการประเมินสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ ดังนี้

1. ประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน

2. คัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

3. คัดกรองความเสี่ยงหกล้ม

4. ประเมินสุขภาพช่องปาก

5. คัดกรองข้อเข่าเสื่อม

6. คัดกรองภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

7. ประเมินปัญหาด้านการนอน

8. คัดกรองภาวะซึมเศร้า

9. คัดกรองภาวะสมองเสื่อม

10. คัดกรองสุขภาวะทางตา

11. คัดกรองภาวะด้านโภชนาการ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการใช้ยาและการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดย สหวิชาชีพทั้ง แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักโภชนาการ เป็นต้นเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล รักษา ป้องกันและฟื้นฟูได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo