General

คนไทยเตรียมรับมือ ‘PM2.5’ กรมอนามัย แนะวิธีปฏิบัติตน ตามระดับสีค่าฝุ่น ตามนี้!!

คนไทยเตรียมรับมือ ‘PM2.5’ กรมอนามัย แนะวิธีปฏิบัติตน ตามระดับสีค่าฝุ่น ย้ำ หมั่นเช็กค่าฝุ่น – สวมหน้ากากป้องกัน

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่นจิ๋ว มักเกิดขึ้นช่วงปลายปีและต้นปี เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละออง

PM2.5

ปีหน้าฝุ่นละอองมีแนวโน้มสูงขึ้น

และจากคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองอาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด เป็นต้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวมากกว่าประชาชนทั่วไป

กรมอนามัย จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอยู่เสมอด้วยการเช็กค่าฝุ่น PM2.5 จากแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือเว็บไซต์ https://air4thai.pcd.go.th ของกรมควบคุมมลพิษ และเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองที่เว็บไซต์ https://4health.anamai.moph.go.th

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง และสามารถป้องกันตนเอง รวมถึงให้คำแนะนำกับคนรอบข้างได้อย่างถูกต้อง

PM2.5

การปฏิบัติตน โดยพิจารณาจากระดับสีค่าฝุ่น PM2.5 

  1. สีฟ้า ระดับดีมาก (0 – 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทุกคนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ
  2. สีเขียว ระดับดี (26 – 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง
  3. สีเหลือง ระดับปานกลาง (38 – 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
  4. สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
  5. สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป) ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

bnฝุ่น11

แนะวิธีการเลือกหน้ากากป้องกันฝุ่น

ทั้งนี้ การป้องกันฝุ่นจิ๋ว ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่นจิ๋ว เข้าสู่ร่างกาย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยมีวิธีการเลือกดังนี้

  1. หน้ากาก N95 ต้องเลือกที่มีขนาดเหมาะ แนบกระชับกับใบหน้า ครอบจมูกและใต้คางได้อย่างมิดชิด
  2. หน้ากากอนามัย ต้องผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ อย่างน้อย 3 ชั้น โดยมีแผ่นกรองอยู่ชั้นกลาง
  3. หน้ากากผ้า ต้องตัดเย็บจากผ้าที่ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้น หรือมีความหนาไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร และมีขนาดเหมาะกับใบหน้า

ทั้งนี้ ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นให้ถูกวิธี และควรเปลี่ยนเมื่อใส่แล้วรู้สึกไม่กระชับใบหน้า หายใจลำบากมากขึ้น ฉีกขาด เปื้อน หรือเปียกน้ำ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo