General

กรมควบคุมมลพิษ เตรียมแผนรับมือ ‘PM2.5’ เน้นลดสาเหตุจาก ‘แหล่งกำเนิด’ ให้มากที่สุด

กรมควบคุมมลพิษ เตรียมแผนรับมือ ‘PM2.5’ เน้นลดสาเหตุจาก ‘แหล่งกำเนิด’ ให้มากที่สุด

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมป้องกัน และแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประจำปี 2566 ว่า ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2566 จะมีความรุนแรงขึ้น จากปัจจัยของสภาพอากาศมีผลกระทบต่อการเกิดฝุ่น

เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงปลายปีและต้นปีที่ มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดการสะสม ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พบฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ความแปรปรวนของสภาพอากาศช่วงนี้ มีผลต่อการสะสมตัวของฝุ่นและเกิดสภาวะความกดอากาศต่ำ จนเกิดการสะสมตัวของฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

PM2.5

ตั้วเป้าลดวันเกิดฝุ่นลง 10% ลดหมอกควันข้ามแดน 30%

การแก้ปัญหา จะเน้นการลดสาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดให้มากที่สุด ตั้งเป้าลดวันเกิดฝุ่นสูงสุดปี 2566 ลงให้ได้ 10% จากปี 2565 มีวันเกิดฝุ่นสูงสุด 186 วัน ส่วนการเกิดหมอกควันข้ามแดน ตั้งเป้าจะพยายามลดลงให้ได้ 30% จากเดิมลดลงที่ 20% แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแต่ละประเทศด้วย

PM2.5

ลดการระบายฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ ในปี 2566 ตั้งเป้าลดการระบายฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ลง คือ พื้นที่เมือง แหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม เน้นมาตรการด้านการจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง

นอกจากนี้ ด้านโรงงานอุตสาหกรรม จะตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการปล่อยมลพิษสูง 100 % ตลอดปี โดยช่วงวิกฤติระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม พร้อมตรวจกำกับโรงงานเชิงรุก ที่มีความเสี่ยงปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ และกิจกรรมเกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นรวม 896 โรงงาน ควบคู่กับควบคุมสถานประกอบการ

PM2.5

สำหรับพื้นที่เกษตร มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร เน้นส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร และสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ด้วยการกำหนดเป้าหมายในพื้นที่ 62 จังหวัด มีเกษตรกร 17,640 คน ตั้งเป้าลดจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลง 10%

ส่วนพื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากไฟป่า เน้นรณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธี ชิง เก็บ ลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (FDRS) และดับไฟป่า ซึ่งกำหนดตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนลง 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo