เที่ยวปีใหม่ กรมอนามัยแนะ ‘คัดแยก-ลดปริมาณขยะ’ ป้องกันขยะล้นแหล่งท่องเที่ยว ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงสถานที่อื่นๆ ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากนักท่องเที่ยวเอง หรือจากโรงแรมรีสอร์ท บังกะโล ตลาดน้ำ และร้านอาหาร
ปริมาณขยะปี 64 แยกตามประเภท
จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยช่วงปี 2564 (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) มีประมาณ 1,864 ตัน
- ขยะอินทรีย์มากที่สุด จำนวน 737.58 ตัน หรือ 39.56%
- ขยะทั่วไป จำนวน 722.26 ตัน หรือ 39.33%
- ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว แก้ว และขวดพลาสติก จำนวน 291.26 หรือ 15.62%
- ขยะอันตราย จำนวน 59.47 ตัน หรือ 3.19%
- ขยะอื่นๆ จำนวน 42.95 ตัน หรือ 2.30%
เมื่อแยกเป็นขยะพลาสติก ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 812,591 ใบ แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 208,179 ใบ และโฟมบรรจุอาหาร จำนวน 31,301 ใบ
ไทย 1 ใน 10 ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล มากที่สุดในโลก
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลปี 2564 พบว่า ขยะตกค้างชายฝั่ง มากที่สุดเรียงตามลำดับ คือ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่ม แก้ว ถุงก๊อปแก๊ป ถุงอาหาร เศษพลาสติก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ แว่นตา และสร้อยคอ กล่องอาหาร กล่องโฟม และกระป๋องเครื่องดื่ม คิดเป็น 73% ของขยะทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่นๆ 27%
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม ซึ่งส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เช่น หาดทราย แนวปะการัง
อีกทั้ง ขยะบางประเภทยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟม พลาสติก เมื่อสัตว์กินเข้าไป จะเกิดอันตรายและตายในที่สุด
ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ช่วยลดปริมาณขยะ
กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยกันลดปริมาณขยะ ดังนี้
- คัดแยก และทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้อย่างถูกต้อง เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก หากนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด
- ลดปริมาณการนำเข้าขยะ โดยนำวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้ว โดยนำมาเอง
นอกจากนี้ ให้ระวังการก่อไฟเผาขยะ ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษและเกิดไฟไหม้อีกด้วย
อ่านข่่าวเพิ่มเติม
- ททท. เตรียมจัดกิจกรรมต้อนรับ ‘นักท่องเที่ยว’ หลังตัวเลขเข้าไทยทะลุเป้า 10 ล้านคน 10 ธ.ค.นี้
- กระตุ้นท่องเที่ยวปลายปี ‘บิ๊กตู่’ สั่งการ คมนาคม เร่งเจรจาต่างชาติ ‘เพิ่มเที่ยวบิน’ เข้าไทย
- เสร็จแล้ว! ‘ทางหลวงหมายเลข 222’ พังโคน–บึงกาฬ เชื่อมโครงข่าย ‘โลจิสติกส์ ไทย-ลาว’ กระตุ้นขนส่ง ท่องเที่ยว