COVID-19

‘หมอธีระ’ ย้ำ! Long COVID อันตราย ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย เสี่ยงผิดปกติระยะยาว

“หมอธีระ” อัพเดทงานวิจัย “Long COVID” ชี้อันตราย ไม่ได้จบแค่หายหรือตาย ชี้กลุ่มคนที่เคยติดเชื้อ สามารถตรวจพบการอักเสบต่อเนื่องในหลากหลายอวัยวะ เสี่ยงผิดปกติระยะยาว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 24 พฤษภาคม 2565… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 435,580 คน ตายเพิ่ม 911 คน รวมแล้วติดไปรวม 527,995,713 คน เสียชีวิตรวม 6,301,342 คน

หมอธีระ

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 77.14% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 78.26%

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 67.21% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 16.57%

หมอธีระ

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม

ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 19.2% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…อัพเดตสถานะของวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็ก 6 เดือนถึง 5 ปี (และน้อยกว่า 6 ปี)

เท่าที่ทราบมาตอนนี้ ข้อมูลจากทาง Tirrell M (CNBC) ระบุว่ามีวัคซีน 2 ชนิดที่กำลังอยู่ในกระบวนการ โดยเป็น mRNA vaccines
วัคซีน Pfizer สำหรับอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี และวัคซีน Moderna สำหรับ 6 เดือนถึงน้อยกว่า 6 ปี

Pfizer: 3 เข็ม ขนาดเข็มละ 3 ไมโครกรัม สองเข็มแรกฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ และเข็มที่สามห่างจากเข็มสอง 2 เดือน (8 สัปดาห์)
Moderna: 2 เข็ม ขนาดเข็มละ 25 ไมโครกรัม ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์

ผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกัน: Pfizer 80% (preliminary), Moderna 37-51%

สถานะของการขอขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินกับ US FDA: Pfizer กำลังจะยื่นเรื่องในสัปดาห์นี้ ส่วน Moderna กำลังอยู่ในกระบวนการทบทวน

ทั้งนี้คงต้องติดตามข่าวกันต่อไปอย่างใกล้ชิด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กเล็ก ๆ จะได้มีอาวุธป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 กันในเร็ววันนี้

หมอธีระ

…อัพเดต Long COVID

ทีมงานวิจัยจากสหราชอาณาจักร รายงานผลการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เป็นโรคโควิด-19

สาระสำคัญคือ หลังผ่านพ้นช่วงแรกของการติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ณ 1-2 เดือนหลังจากนั้นกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนสามารถตรวจพบการอักเสบต่อเนื่องในหลากหลายอวัยวะ (Multi-system inflammation) เช่น หัวใจ และไต

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

เพราะติดโควิด-19 แล้วไม่จบแค่หายหรือตาย แต่เสี่ยงต่อความผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID ซึ่งจะส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน และยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก และยังจำเป็นต้องทำครับ ป้องกันทั้งโควิด-19 และฝีดาษลิงที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกด้วย

อ้างอิง Morrow, A.J., Sykes, R., McIntosh, A. et al. A multisystem, cardio-renal investigation of post-COVID-19 illness. Nat Med (2022).

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK